ภาคีผู้จัดงาน Good Society Summit 2021 ชวนทุกคนร่วมลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมเป็นสังคมดีในแบบที่ทุกคนต้องการ ภายใต้คอนเซปต์ “ความหวังในวิกฤต Hope in Crisis” พบกับ 3 Forum เวทีแลกเปลี่ยนประเด็นสังคมทั้ง ด้านธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย และวิสาหกิจเพื่อสังคมกับวิทยากรกว่า 50 ท่าน ส่วนที่ 2 พบกับกิจกรรมจากภาคสังคมมากมายที่จะชวนคุณมาร่วมลงมือสร้างสังคมน่าอยู่ในแบบของคุณเอง และส่วนสุดท้ายคือกิจกรรมการเชื่อมต่อภาคีเครือข่ายสังคมดีกับภาคสังคมและภาคธุรกิจ พบกันในรูปแบบ Virtual Events ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ http://goodsociety.network พบกันวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายนนี้
คุณพัดชา มหาทุมะรัตน์ คณะทำงานเครือข่ายสังคมดี กล่าวว่า “งาน Good Society Summit 2021 เป็นการรวมตัวของภาคีและองค์กรต่างๆ เพื่อร่วมกันนำเสนอประเด็นทางสังคมที่หลากหลายพร้อมช่องทางที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสร้างสังคมดี ปีนี้เราเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็น Virtual Event ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ทุกภาคส่วนทั้งภาคสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป ธุรกิจเพื่อสังคม สื่อมวลชน ร่วมนำเสนอประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจกว้างและลึกมากขึ้นกว่าเดิม โดยเป้าหมายคือการร่วมสร้างสังคมดีที่น่าอยู่ในแบบที่ทุกคนต้องการ ซึ่งงานนี้เป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมคิดและลงมือทำ เพื่อสร้างสังคมดีที่พวกเราอยากเห็น ผ่านกิจกรรมและเวทีระดมความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ เข้มข้นตลอด 3 วัน”
กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานมี 3 ส่วนหลัก คือ ร่วมเรียนรู้ (Learn), ร่วมลงมือทำ(Action) และร่วมยกระดับสร้างสังคมดี (Scale Impact) รายละเอียดดังนี้
ร่วมเรียนรู้ (Learn) ผ่าน 3 เวทีระดมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสังคม โดยหน่วยงานพัฒนาสังคมที่จะชวนทุกคนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นทางสังคม กำหนดเป้าหมายใหญ่ของภาคประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพชีวิตและสร้างพลังประชาชนที่ไม่นิ่งดูดาย (Active Citizen) ประกอบด้วย
เวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Governance for Sustainable Development Forum: GSDF) การสร้างเสริมธรรมาภิบาลเชิงระบบในภาคตลาดทุน ธนาคาร การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data) การยกระดับธรรมาภิบาลของระบบรัฐสภาและภาคการศึกษา โดยดร.มานะ นิมิตรมงคล ตัวแทนจากเวทีฯ ธรรมาภิบาลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กล่าวว่าเราทุกคนในสังคมตระหนักดีว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องระดับประเทศ หนึ่งเรื่องที่เราให้ความสนใจที่หยิบยกเป็นประเด็นถกกันในงานครั้งนี้ คือ การสร้างเสริมธรรมาภิบาล เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จากข้อมูลพบว่า 60% ของคดีคอร์รัปชันที่ร้องเรียนไปยัง ปปช. คือเรื่องเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะในรัฐวิสาหกิจ และอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เรื่องธรรมาภิบาลในรัฐสภาที่เป็นจุดกำเนิดของอำนาจรัฐ กำหนดงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งทุกวันนี้ยังมีปัญหาอยู่ซึ่งจะเป็นสิ่งที่จะมาพูดคุยในงานครั้งนี้
“การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยต้องอาศัยพลังการมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมาก งานนี้จะเป็นโอกาสดีที่จะชวนทุกคนมาร่วมแก้ปัญหา ซึ่งผลลัพธ์ที่เรามั่นใจว่าผู้มีส่วนร่วมจะได้รับคือความรู้และแนวทางที่สามารถพิสูจน์และปฏิบัติได้จริง และวิธีการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแน่นอน”
ด้านเวทีฯ เพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย (Thailand Social Development Forum: TSDF) จะร่วมแลกเปลี่ยนหารือใน 5 ประเด็นสังคมที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนไทย คือ สาธารณสุข, การศึกษา, ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ, การพัฒนาเครื่องมือวิชาการ และการลงทุนทางสังคม โดยคุณสิน สื่อสวน ตัวแทนเวทีฯ เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวว่า “เราสร้างความร่วมมือหลายภาคส่วนที่มาร่วมสังเคราะห์ปัญหา หาทางออกร่วมกันเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในงานจะนำเสนอประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งระบบสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน, ปัญหาหนี้สิน, การสร้างเศรษฐกิจฐานรากชุมชนท้องถิ่น, สิทธิการอยู่อาศัยและพัฒนาคนจน เพราะการแก้ไขปัญหาสังคมมีความยากและซับซ้อน การทำงานเชิงเดี่ยวจะไม่มีพลัง เราต้องสร้างความร่วมมือหลายฝ่าย ทำให้เกิดการเรียนรู้ของการอยู่ร่วมกัน เพิ่มพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกันยกระดับพัฒนาสังคมไทยที่ยั่งยืน”
คุณธานินทร์ ทิมทอง ตัวแทนจากเวทีฯการพัฒนาการศึกษา กล่าวว่า “งานนี้ได้ระดมภาคีกว่า 20 องค์กร ทั้งภาคเอกชน แวดวงการศึกษา คนรุ่นใหม่ โดยหยิบยกประเด็นทางการศึกษา เรื่องความเหลื่อมล้ำ นักเรียนที่หลุดออกจากระบบ รวมถึงการพัฒนาทักษะชีวิตและการสร้างพลเมืองที่ดีให้กับเยาวชนมาร่วมกันหาทางช่วยกันแก้ไข เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเชื่อมโยงกันหมดทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม การร่วมระดมความเห็นจากเวทีนี้ จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในระดับใหญ่และกว้างมากขึ้น เกิดการเรียนรู้การทำงานข้ามเครือข่าย ทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันแก้ปัญหาที่ฝังรากลึกมายาวนาน และเห็นภาพความร่วมมือแก้ปัญหาได้ชัดมากขึ้น”
เวทีสุดท้ายคือ เวที Social Enterprise Thailand Forum 2021 คุณสุดารัตน์ โรจน์พงศ์เกษม ผู้จัดการทั่วไป สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) กล่าวว่า “งานนี้มีธุรกิจเพื่อสังคมกว่า 50 ราย ภาคธุรกิจเอกชนกว่า 20 องค์กรที่เข้าร่วมงาน เราใช้โอกาสนี้ต่อยอดกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมขนาดเล็กและกลางให้สามารถเข้าถึงกลุ่มธุรกิจอื่นๆ โดยเป้าหมายที่เราต้องการคือ ทำให้คนรู้จักธุรกิจเพื่อสังคม ในฐานะเครื่องมือแก้ไขปัญหาสังคม และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน”
Good Society Summit 2021 ยังมีกิจกรรมที่ชวนทุกคนได้ร่วมลงมือทำ (Action) เพื่อสร้างสังคมน่าอยู่จาก 4 ประเด็นทางสังคมน่าสนใจคือ การศึกษาและเยาวชน, สิทธิมนุษยชนและการต่อต้านคอร์รัปชัน, สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน อีกทั้งการเปิดพื้นที่เชื่อมต่อภาคเอกชนกับองค์กรภาคสังคม เพื่อยกระดับความร่วมมือการสร้างสังคมดี (Scale Impact) เชื่อมต่อทรัพยากรในด้านต่างๆ ทั้ง ทุนทรัพย์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่ภาคเอกชนจะมาร่วมเติมเต็มให้กับหน่วยงานภาคสังคมให้สามารถทำงานอย่างเข้มแข็ง
เป้าหมายของงานนี้ต้องการสร้างสังคมที่น่าอยู่ในแบบที่ทุกคนต้องการจากผู้ร่วมจัดงานกว่า 100 องค์กรและ120 โครงการ เพราะเราเชื่อมั่นว่าเราทุกคนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุขของทุกคนอย่างยั่งยืน พบกันวันที่ 19-21 พฤศจิกายนนี้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในรูปแบบดิจิตอลเสมือนจริงผ่านช่องทางแพลทฟอร์ม http://goodsociety.network