คาดการณ์ 3 อันดับระบบซัพพลายเชนที่จะเกิดในปี 2565

บทความโดย นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์ อาเชียน-อินเดีย

ปี 2565 นับเป็นปีที่สามในการเผชิญกับภัยพิบัติด้านสุขภาพทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ผลกระทบรุนแรงจากความไม่สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก  ประเด็นของความไม่แน่นอนและความกังวลที่เกิดขึ้นในปีนี้ จะยังคงเกี่ยวกับปัญหาด้านความพร้อมของแรงงานและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น พื้นที่สำหรับโหลดสินค้า เซมิคอนดักเตอร์ ความพร้อมใช้งานของรถพ่วงสำหรับลากตู้คอนเทนเนอร์ ตลอดจนพื้นที่จัดเก็บของคลังสินค้า

ดังนั้น อนาคตทางสังคมและเศรษฐกิจของเราทุกคนอาจจะยังรางเลือนไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงเทศกาลวันหยุด  อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นรูปแบบของซัพพลายเชนแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากความสับสนวุ่นวายทางการค้า และการขนส่งสินค้าทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งแนวโน้ม 3 ประการที่เราจะต้องเผชิญในปีนี้ ได้แก่

1) ปัญหาเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ตามท่าเรือสำคัญในอเมริกาเหนือและยุโรปเหนือ จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 2566 เนื่องจากความแออัดและความล่าช้าในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงปัญหาการขนส่งที่เกิดขึ้นแต่ใน “มหาสมุทร” เท่านั้น แต่ได้กลายเป็นปัญหาของเครือข่ายซัพพลายเชนทั่วโลกไปแล้ว ปริมาณการขนส่งสินค้าขาเข้าที่เพิ่มขึ้นจากเอเชีย (จากความต้องการของผู้บริโภคที่สูงเป็นประวัติการณ์) กอปรกับปัญหาเกี่ยวกับแรงงานที่ท่าเรือ คนขับรถบรรทุก พนักงานขนถ่ายคลังสินค้า ตลอดจนปัญหาตู้คอนเทนเนอร์และรถพ่วงที่ว่างพร้อมใช้งาน ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนถ่ายของเรือเดินทะเล และส่งผลกระทบถึงการเคลื่อนย้ายสินค้าออกจากท่าเรือไปยังคลังสินค้า หรือสถานที่แยกสินค้าที่อยู่ภายในประเทศอีกด้วย

2) บริษัทต้องจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ใช้ตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งความสัมพันธ์กับผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ร่วมมือกัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของซัพพลายเชน เพราะการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจจะยังคงเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง  นอกเหนือจากการมองเห็นสินค้าคงคลังในระหว่างการขนส่งแบบเรียลไทม์แล้ว บริษัทจะต้องมีการตั้งเป้าในการดำเนินงานใหม่ เน้นให้มองเห็นการขนส่งแบบองค์รวมในหลากหลายมิติ แทนการมุ่งแสวงหาต้นทุนที่ต่ำลงเพียงอย่างเดียว เช่น พื้นที่โหลดสินค้า การดำเนินงานและสภาพการเงินของซัพพลายเออร์ จุดขนส่งสำหรับเปลี่ยนถ่ายสินค้า และความคืบหน้าในการควบคุมดูแลการขนส่งตลอดเส้นทาง เป็นต้น  และเพื่อช่วยให้มีการตอบสนองที่รวดเร็วขึ้นเมื่อเกิดปัญหาภายในเครือข่ายซัพพลายเชนหรือช่องทางการขนส่งทั่วโลก ความยืดหยุ่นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อยกเว้นเพื่อช่วยให้ระบุและแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้น (exception monitoring) เพราะความสำเร็จในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าปลายทางน้้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ขึ้นอยู่กับการควบคุมและความยืดหยุ่นที่เพิ่มมากขึ้นในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง

3) รูปแบบของระบบซัพพลายเชนทั่วโลกในปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน ได้แก่

– ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลและทางอากาศที่สูงขึ้นจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป แม้ว่าความแออัดและข้อจำกัดด้าน
กำลังการผลิตในปัจจุบันได้ลดลงมาอยู่ในระดับใหม่ที่สมดุลทั้งโลกแล้ว 
– ตลาดการขนส่งสินค้าในช่วง ‘ไฮซีซัน’ แบบดั้งเดิมจะเริ่มเร็วขึ้นและลากยาวกว่าปกติ
– สัญญาการขนส่งสินค้าระยะสั้นจะเพิ่มมากขึ้น
– ผู้ส่งสินค้าจะยังคงเพิ่มการใช้งานผู้ให้บริการขนส่งทั่วไปที่ไม่ใช่เจ้าของเรือหรือไม่มีเรือเป็นของตนเอง (Non-Vessel-
Operating Common Carriers – NVOCCs) และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบ third-party (3PLs) เพื่อให้
มั่นใจว่ามีพื้นที่เพียงพอสำหรับการโหลดสินค้า
– ผู้ส่งสินค้าจำนวนมากขึ้นจะแลกเปลี่ยนพื้นที่โหลดสินค้าที่มีการคาดการณ์ไว้ ที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลากับผู้ให้
บริการหลักของตน เพื่อปรับปรุงการวางแผนเครือข่ายการขนส่งสินค้าโดยรวม
– ผู้ส่งสินค้าและผู้รับสินค้าปลายทางจำนวนมากขึ้นจะอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการขนถ่ายสินค้า
สำหรับรถพ่วงและตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อเพิ่มพื้นที่โหลดสินค้าในเครือข่าย 
– ผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากขึ้นจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับโลก โดยเน้น
เรื่องความผันผวนของอุปทานที่ลดลง ควบคู่ไปกับการจัดการต้นทุนเพื่อปกป้องสายการผลิต ประสบการณ์ลูกค้าปลาย
ทาง รวมถึงผลกำไรของธุรกิจโดยรวม

ความไม่แน่นอนของความท้าทายด้านอุปทานและอุปสงค์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้กลายเป็น “นิวนอร์มัล” ของผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนไปแล้ว ดังนั้น  จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับปรุงเทคโนโลยี และเครื่องมือบริหารจัดการซัพพลายเชนที่พวกเขาใช้ทุกวัน  ทั้งนี้ การเชื่อมต่อกับพันธมิตรได้มากขึ้นและยืดหยุ่นขึ้น มีแหล่งข้อมูลภายนอกมากขึ้น รวมถึงมีเครือข่ายซัพพลายเชนที่ชาญฉลาดที่เชื่อมโยงความต้องการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไว้ด้วยกันในท้ายที่สุด ที่เกิดจากการวางแผนการจัดซื้อและการจัดส่งตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยให้ธุรกิจมั่นใจได้ว่าจะสามารถตอบสนองและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต