LGBTQIA+ คือชุดตัวอักษรที่มีความหมายเล่าให้สังคมได้เข้าใจในอัตลักษณ์เพศของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในตัวอักษรที่ทรงพลังที่สุด อย่าง ‘T หรือ Transgender’ กลุ่มผู้ก้าวมาสู่อัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากเดิม ที่นอกจากต้องต่อสู้ให้ได้การยอมรับในสังคมแล้ว พวกเขายังต้องฝ่าฟันขั้นตอนการแพทย์ที่ซับซ้อน เพื่อให้ก้าวมาถึงจุดที่เป็นในทุกวันนี้
ในเดือนแห่งความหลากหลาย หรือ Pride Month ครั้งนี้ เราจะขอชวนไปพูดคุยกับสุดยอดสองทรานส์เจนเดอร์ที่เป็นที่รู้จักในสังคมกับ ‘จิ๊บ – ณภัค มหาอุดมพร’ Female To Male และ ‘รริน – รริน สมอุ่น’ Male To Female กับเรื่องราวชีวิตวัยเด็ก การตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อเปลี่ยนชีวิตหลังก้าวข้ามเพศ หวังให้เสียงตัวอักษร “T” เป็นพลังให้ LGBTQIA+ ได้รับการเข้าใจมากยิ่งขึ้น
Q: ในตอนที่เรารู้ว่าตัวเองเป็น LGBTQIA+ ครอบครัวมีการตอบสนองอย่างไรบ้าง
จิ๊บ: ตัวผมเองค่อนข้างโชคดี เพราะคุณพ่อคุณแม่เขาพอจะเห็นแววในตัวเรา ตอนเด็กเขาก็พยายามให้เราใส่กระโปรงตลอด ไม่อยากให้เราใส่กางเกง คือแรก ๆ เขาก็อาจจะยังไม่เข้าใจหรือไม่ก็มองว่าเราเด็กเกินไปจะตัดสินใจเอง แต่พอโตขึ้นมาแล้วเรายังชัดเจนกับมันอยู่ เขาก็ไม่ได้แอนตี้เรา คอยซัพพอร์ทเราตลอด ให้เราเป็นคนตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง
ริน: เราโตมาในครอบครัวที่แอนตี้เรื่องเพศมากพอสมควร ยิ่งคุณพ่อคือเป็นคนที่แสดงออกไปทางลบกับเพศที่สามมาก จนเรารู้สึกว่าเราผิดอะไร เราเป็นอะไร เรารู้สึกไม่เป็นตัวเองในบ้าน เราเลยไปแสดงออกที่โรงเรียนว่าเรารักที่จะเป็นผู้หญิง แต่พอคุณพ่อคุณแม่รู้เรื่อง รินก็โดนให้ย้ายโรงเรียนเลย ทีนี้พอโตขึ้นมามันมีเหตุการณ์ที่พ่อกับแม่แยกทางกัน ตรงนี้อาจจะเป็นจุดที่รินได้เริ่มใช้ชีวิตคนเดียว แล้วก็เป็นตัวเองได้เต็มที่ค่ะ
Q: จุดไหนที่ทำให้ทำให้เรารู้ตัวว่าเป็นทรานส์เจนเดอร์ และเลือกที่จะผ่าตัดข้ามเพศ
จิ๊บ: ตอนแรกเราก็นิยามว่าตัวเองเป็นผู้ชายนี่แหละ แต่ก็รู้สึกว่าเรายังเป็นผู้ชายที่ไม่สมบูรณ์แบบด้วย ด้วยการที่เรายังไม่ complete (เรื่องการผ่าตัดข้ามเพศ) มันทำให้เรารู้สึกไม่เป็นตัวเองและขาดความมั่นใจ ก็เลยเริ่มไปหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนบอกเลยว่าข้อมูลน้อยมาก เราต้องไปหาข้อมูลจากเว็บต่างประเทศ แล้วสงสัยว่าทำไมแต่ก่อนทรานส์เมืองนอกเขาเหมือนผู้ชายกันจัง จนรุ่นพี่ที่รู้จักแนะนำให้เราไปเทคฮอร์โมน ซึ่งทุกขั้นตอนที่เรามีการเปลี่ยนแปลง มันเหมือนรู้สึกเป็นตัวเองมากขึ้น จนวันหนึ่งเรา complete เราก็มั่นใจว่าเรามาถึงจุดที่เรารอมาตลอดชีวิตแล้ว
ริน: เรามีความใฝ่ฝันจะเป็นผู้หญิงตั้งแต่เด็กเลย แต่ด้วยความที่ครอบครัวแอนตี้ เราเลยแอบเป็นมาเรื่อย ๆ ตอนแรกเรื่องการแปลงเพศเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คิดถึงเลย เพราะคิดว่ามันไกลตัวแล้วก็ที่บ้านไม่โอเคด้วย จนเราเริ่มเทคฮอร์โมนครั้งแรกตอนอายุประมาณ 14 ปี ก็ตัดสินใจได้ว่าคงเป็นผู้ชายต่อไปไม่ได้แล้ว เราต้องการไปในทางผู้หญิงอย่างเดียว รินตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศก่อนทำหน้าอกเลย อันนี้เราถือว่าเราค่อนข้างใจเด็ดกว่าคนส่วนใหญ่ เพราะปกติเขาจะนิยมทำหน้าอกก่อน แล้วค่อยแปลงเพศกัน ในตอนผ่าตัดเสร็จเรารู้สึกเลยว่ามันมาเติมเต็มหัวใจ ทุกครั้งที่แต่งตัวเรามั่นใจในตัวเอง และรู้สึกภูมิใจกับตัวเองมากขึ้น 100%
Q: หลังการผ่าตัดข้ามเพศแล้ว ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่เป็นอย่างไรบ้าง
จิ๊บ: หลังผ่าตัดแล้วทั้งเราและแฟนรู้สึกพอใจ ผมคิดว่ามันมาช่วยเติมเต็มความสัมพันธ์ได้จริง ๆ ก่อนหน้าที่เราจะมีมันก็ไม่ใช่ว่ามันจะไม่ดี แต่ต้องบอกว่าเราไม่มั่นใจมากกว่า
ริน: ตอนที่ต้องเปิดให้คุณหมอ เรารู้สึกอายมากเพราะตัวเราเองก็แทบไม่อยากมองมันอยู่แล้ว ด้วยก่อนหน้านี้เราก็มีรูปร่างหน้าตาเป็นผู้หญิงมาโดยตลอด แต่พอมาเป็นเรื่องความสัมพันธ์แล้วทุกอย่างมันติดขัดไปหมด บางคนเข้ามาโดยที่ไม่รู้ว่าเราเป็นทรานส์เขาก็ปฏิเสธเรา แต่หลังผ่าตัดเสร็จเราก็รู้สึกประทับใจ ที่สำคัญคือเราเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีครั้งใหม่หลังจากแปลงเพศนี่แหละ
Q: อยากจะฝากบอกอะไรกับคนที่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง
จิ๊บ: ตัวจิ๊บเองก็มีเพื่อนหลายคนที่รู้สึกลังเลว่าฉันใช่หรือไม่ใช่ ก็อยากแนะนำให้ลองคิดลองไตร่ตรองด้วยตัวเองก่อน แต่ถ้าเรายังไม่แน่ใจหรือตัดสินใจเองไม่ได้ เราก็ลองไปปรึกษาจิตแพทย์ได้ มันไม่ใช่เรื่องความผิดปกติ หรือต้องเคอะเขิน หรือน่ากลัวอะไรเลย คุณหมอเขาพร้อมจะคุยกับเราแบบสบาย ๆ อยู่แล้ว เขามีวิธีคุยเพื่อประเมินและให้คำแนะนำว่าเราเป็นอย่างไร หรือกับเรื่องแบบทดสอบ ที่บางคนกลัวว่าจะทำไม่ผ่าน จริง ๆ แล้วขอแค่เราตอบในสิ่งที่เป็นตัวเราเท่านั้นเอง จิ๊บเชื่อว่าผ่านทุกคน
ริน: อยากฝากถึงสาวทรานส์ทุกคนกับเรื่องการเข้าปรึกษาคุณหมอ อย่างแรกคือมันถูกต้องและไม่ส่งผลเสียกับสุขภาพเรา รินอยากให้คนที่รู้ตัวว่าอยากเป็นผู้หญิง อยากแต่งตัวเป็นผู้หญิง อยากใช้ชีวิตแบบผู้หญิงทั้ง 100% ให้มั่นใจในตัวเอง อย่าไปคิดตามคนส่วนใหญ่ว่าถ้าเราแปลงเพศไปแล้วจะไม่สวย เพราะจริง ๆ การแปลงเพศมันเป็นการทำเพื่อตัวเอง ส่วนเรื่องความสัมพันธ์หรือชีวิตรัก อันนั้นเป็นเรื่องของผลพลอยได้มากกว่า สิ่งสำคัญคือเราเป็นทรานส์เพราะเรามั่นใจในตัวเอง
แม้ประสบการณ์ชีวิตของทรานส์เจนเดอร์แต่ละคนจะแตกต่าง แต่เชื่อว่าพวกเขามีความรู้สึกที่เชื่อมถึงกันใน ‘ความมั่นใจ’ ว่าตัวเองเป็นใคร ต้องการอะไร และรู้ว่าอะไรคือความภูมิใจในตัวเอง ซึ่งความมั่นใจนี้คือหนึ่งข้อสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงให้สังคมยอมรับในความหลากหลายมากขึ้นอย่างแน่นอน