นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้า “โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ จังหวัดชัยนาท” พร้อมด้วยคณะ ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ จังหวัดชัยนาท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชัยนาทอย่างบูรณาการและยั่งยืนนั้น พบว่าพื้นที่ในโครงการประสบปัญหาใน 3 ประเด็น ได้แก่
1. ปัญหาประสิทธิภาพของโครงการลดลง เนื่องจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2506 มีระยะเวลานานกว่า 50 ปี ทำให้มีประสิทธิภาพการใช้งานลดลงและจากผลศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา (กรมชลประทาน, 2560) พบว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ อยู่ในแผนปรับปรุงโครงการ
2. ปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการชลประทาน และการใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค ซึ่งมีการจัดสรรน้ำในด้านชลประทานประกอบไปด้วยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา 6 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลเทพ มีความต้องการใช้น้ำ 270.86 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี 2) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ มีความต้องการใช้น้ำ 449.46 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี 3) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก มีความต้องการใช้น้ำ 837.55 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี 4) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา มีความต้องการใช้น้ำ 837.47 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี 5) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว มีความต้องการใช้น้ำ 323.94 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และ 6) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดอนเจดีย์ มีความต้องการใช้น้ำ 259.84 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี
3. ปัญหาอุทกภัย ซึ่งมีที่มาของน้ำหลาก 2 ส่วนหลัก คือ อุทกภัยจากพื้นที่ฝั่งขวาของคลองมะขามเฒ่า – อู่ทอง หรือคลอง ม.-อ. และอุทกภัยจากแม่น้ำท่าจีน ทำให้มีน้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในแนวตลิ่งของแม่น้ำท่าจีนทั้ง 2 ฝั่ง และน้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มภายในโครงการ ซึ่งหากระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนสูงขึ้นจะส่งผลทำให้เกิดการท่วมขังเป็นเวลานานขึ้น
โดยกรมชลประทาน มีแผนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัยให้กับประชาชน จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านต่าง ๆ ของโครงการ ตลอดจนสภาพปัญหา และข้อเสนอแนะจากการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา จึงมีแนวทางการพัฒนาแผนงานปรับปรุงโครงการฯ ท่าโบสถ์ ประกอบไปด้วย แผนปรับปรุงซ่อมแซมระบบชลประทาน, แผนขยายพื้นที่ชลประทานฝั่งขวา คลอง ม.-อ. , แผนบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และ แผนบรรเทาอุทกภัยและระบายน้ำ โดยแผนบรรเทาปัญหาภัยแล้งและแผนบรรเทาอุทกภัยและการระบายน้ำ ของโครงการท่าโบสถ์ ทั้ง 4 แผนงาน มีงบประมาณการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ประมาณ 1,582.915 ล้านบาท และใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี
สำหรับ “โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ จังหวัดชัยนาท” จะมีส่วนทำให้จังหวัดชัยนาทและจังหวัดสุพรรณบุรีมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี และทำให้เกษตรกรที่ได้รับน้ำสามารถเพาะปลูกพืชได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งเพิ่มขึ้น ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวจังหวัดชัยนาทและจังหวัดสุพรรณบุรีต่อไป