วันนี้ (2 ก.ย. 64) นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมด้วย นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และสื่อมวลชนทุกแขนง เข้าร่วมการกิจกรรมสื่อสัญจรผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต แจ้งให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงการทำงานในด้านต่างๆ ของกรมชลประทานตลอดเวลาเวลาการศึกษางานที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสพร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณชน
นายเฉลิมเกียรติ เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอย่างบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเมื่อภูเก็ต Sand Box ประสบความสำเร็จนักท่องเที่ยวจะเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตจะเพิ่มมากขึ้น ปริมาณความต้องการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยคาดว่าในปี 2568 จะมีปริมาณความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ รวม 70 ล้านลบ.ม./ปี ในปี 2578 จะเพิ่มเป็น 82 ล้าน ลบ.ม./ปี และ ปี 2593 จะเพิ่มมากว่า 112 ล้าน ลบ.ม./ปี การผลิตน้ำประปาของเกาะภูเก็ตนั้นมีกำลังการผลิตสูงถึง 75 ล้าน ลบ.ม./ปี แต่มีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำประปาที่ 60 ล้าน ลบ.ม./ปี
สำหรับแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำตามศักยภาพและความเหมาะสม มีดังนี้
1. เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มศักยภาพการจ่ายน้ำของแหล่งน้ำ เช่นการเพิ่มความ จุอ่างเก็บน้ำ/ขุมน้ำ และการขุดลอกแหล่งน้ำ
2. เพิ่มปริมาณการสูบใช้น้ำจากน้ำท่าให้มากขึ้น เช่น การสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่ม ทั้งเพื่อการน้ำไปใช้โดยตรงและการสูบเก็บสำรองในแหล่งน้ำ
3. ส่งเสริมเอกชนผลิตขายน้ำประปาให้รัฐในระยะยาว
4. บริหารจัดการน้ำโดยในฤดูฝนมุ่งเน้นให้ใช้น้ำท่าเป็นหลักและเก็บสำรองน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 25 โครงการ ประกอบด้วย แผนงานระยะสั้น (ปี 2566-2570) 18 โครงการ แผนงานระยะกลาง (ปี 2571-2580) 6 โครงการ และแผนงานระยะยาว (ตั้งแต่ปี 2580 อีก 1 โครงการ) ซึ่งจากการศึกษาและการประชุมมีส่วนร่วมกับประชาชนได้พิจารณาคัดเลือก 2 โครงการสำคัญ เพื่อนำมาศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและปรับปรุงโครงการ ประกอบด้วย
1) โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ คลอบคลุมพื้นที่ 50.46 ไร่ องค์ประกอบโครงการอยู่ใน 3 ตำบล ได้แก่ ต.เทพกระษัตรี ต.เชิงทะเล และ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต แก้มลิงมีความจุเก็บกัก 0.20 ล้าน ลบ.ม. รูปแบบสระเก็บน้ำแก้มลิงมีการป้องกันการรั่วซึม โดยลาดด้านข้างและก้นสระเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยแก้มลิงแห่งนี้ จะมีระบบสูบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำเพื่อสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง และแก้มลิงจะช่วยสนับสนุนระบบผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (สถานีผลิตบ้านบางโจ) ในช่วงฝนที่ต้องใช้แหล่งน้ำจากน้ำท่า โดยสามารถขยายกำลังผลิตจาก 12,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน เป็น 35,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำรองของชุมชนใกล้เคียงสำหรับอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะมีส่วนทำให้จังหวัดภูเก็ตมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี
2) โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองถลาง ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำคลองถลาง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย การปรับปรุงคลองระบายน้ำสายหลัก ได้แก่ คลองถลาง คลองเสน่โพธิ์หรือคลองบ้านบางขนุน และคลองบางโจ การขุดลอกคลองระบายน้ำที่ตื้นเขิน ได้แก่ คลองบ้านยา 1 และคลองบ้านยา 2 และการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ได้แก่ ปตร.วัดพระทอง ปตร.โคกโตนด สะพานและท่อลอดถนน เพื่อบรรเทาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมบริเวณตัวเมืองถลาง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองถลางให้ระบายน้ำออกจากพื้นที่เมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต เริ่มดำเนินการเมื่อ 15 มิถุนายน 2563 – 7 กันยายน 2564 ซึ่งหากสามารถดำเนินการตามแผนงานได้ทั้งหมดจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้อย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตต่อไป