เข้าใจผู้ป่วย ‘โรคไบโพล่าร์’ (Bipolar Disorder) ไม่ใช่คนอันตราย อยู่ร่วมกันได้ แค่ต้องรักษาให้ไว
ในช่วงที่ทุกคนถูกขอความร่วมมือให้กักตัวเอง เว้นระยะอยู่ห่างจากสังคม จึงเป็นธรรมดาที่คน ๆ หนึ่งต้องมาเจอกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรืออาจรวมถึงสภาพจิตใจที่ขึ้นลงควบคุมไม่ได้
…ซ้ำร้ายกว่านั้นในอีกมุม สภาพสังคมที่เลวร้ายนี้ยังส่งผลกระทบกับ ‘ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์’ ได้อีกด้วย ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เราอาจได้เห็นความสูญเสียที่ไม่คาดคิด เกิดกับผู้ป่วย ‘โรคไบโพล่าร์’ (Bipolar Disorder) ขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้
เรื่องราวความสูญเสียที่เรารับรู้ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์หรือจอโทรทัศน์ของผู้เป็นโรคไบโพล่าร์ แทบทุกเหตุการณ์ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของพวกเขา แต่ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพอารมณ์ที่แปรปรวนอยู่ตลอด ควบคุมไม่ได้ จนนำมาซึ่งการทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ในช่วงที่อาการกำเริบขึ้น
แพทย์หญิงพรทิพย์ ศรีโสภิต ผู้ชำนาญการด้านจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า อาการแสดงของโรคไบโพล่าร์เป็นสิ่งที่คนรอบข้างยากจะเข้าใจ หลายครั้งมีโอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง และตามมาซึ่งความรุนแรงได้ ซึ่งสิ่งที่ยากจะคาดเดาคือเราไม่รู้ว่าความรุนแรงนั้นจะออกมาในรูปแบบไหน “ผู้ป่วยเป็นผู้กระทำ หรือผู้ป่วยถูกกระทำ” ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่คนรอบข้าง ต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรคนี้ให้ดี
ในหลาย ๆ ครั้ง ผู้คนมักเข้าใจว่าโรคไบโพล่าร์และโรคซึมเศร้า คืออาการป่วยแบบเดียวกัน แต่ความเข้าใจนั้นไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด โรคไบโพล่าร์ หรือ Bipolar Disorder หรือ ‘โรคอารมณ์สองขั้ว’ จัดอยู่ในกลุ่มของโรคความผิดปกติทางอารมณ์ เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้า แต่ในขณะที่โรคซึมเศร้า จะมีลักษณะอาการที่ชัดเจนของอารมณ์ตกหรืออารมณ์เศร้าเพียงอย่างเดียว…
“โรคไบโพล่าร์ จะแตกต่างออกไป คือสามารถแสดงอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ 2 ขั้ว” ขั้วแรกคือขั้วของช่วง ‘อารมณ์ขึ้น’ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ครึกครื้นหรือหงุดหงิดมากเกินกว่าปกติ และอีกขั้วหนึ่งคือขั้วของช่วง ‘อารมณ์ตก’ หรืออารมณ์เศร้าแบบเดียวกันกับโรคซึมเศร้านั่นเอง
กล่าวง่าย ๆ คือผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างฉับพลัน อยู่ ๆ ก็ร่าเริงสนุกสนาน เปลี่ยนเป็นความเศร้าโดยไม่มีเหตุผล แล้วกลับกลายเป็นความหงุดหงิด โกรธต่อสิ่งรอบข้าง กลไกของโรคที่ซับซ้อนนี้ จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไปจนถึงการดูแลตัวเอง และในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือบทสรุปของความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
แต่ก่อนที่เส้นเรื่องจะนำพาไปพบกับความสูญเสีย เราก็ควรรู้ว่าโรคไบโพล่าร์เองก็เป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้ ไม่ว่าจะทั้งด้วยการรักษาจากแพทย์ หรือการให้ยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดอาการกำเริบ สิ่งสำคัญคือคนรอบข้าง ต้องหมั่นสังเกตอาการหรือความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค ไม่มีทัศนคติติดลบต่ออาการทางจิตจนไม่กล้าเข้ารับการรักษา
“การรักษาที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์เข้าใจในตัวเอง ควบคุมและสังเกตอาการตัวเองได้ดีขึ้น จนทำให้มีสภาพอารมณ์มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น สามารถเข้าใจสภาวะและผู้คนรอบข้าง จนสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติในที่สุด” แพทย์หญิงพรทิพย์ ให้ข้อสรุป
ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์หรือรวมถึงคนทั่วไป จะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้อย่างยากลำบากกว่าเดิม แต่อย่างน้อยเราก็เชื่อว่าในวันหนึ่งที่ชีวิตกลับสู่สภาวะปกติ อารมณ์ที่แปรปรวนของทุกคนก็สามารถกลับมามั่นคงได้ดังเดิมเช่นกัน
หรือหากต้องการปรึกษาทางเลือกดูแลอารมณ์เพิ่มเติม ก็สามารถพูดคุยกับ โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ที่ Website: www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospitalโรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram 9Hospital #COVIDSAFEHOSPITAL #CovidSafeHospital