8 กุมภาพันธ์ 2566 -กรุงเทพฯ; องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอ ‘ร่าง พระราชบัญญัติปกป้องและคุ้มครองช้างไทย หรือ ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม พร้อมด้วยอาสาสมัคร และตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านการปกป้องสัตว์ เช่น มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม, สมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย), SOS Animal Thailand, ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์, ภาคประชาสังคมด้านการปกป้องสัตว์ ร่วมติดตามความคืบหน้าในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวต่อตัวแทน
สำนักนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้เร่งนำร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับภาพประชาสังคมเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาเป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูปสวัสดิภาพช้างอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ พ.ร.บ.ช้างไทยฉบับภาพประชาสังคมดังกล่าวเกิดจากเจตจำนงค์ของประชาชนที่ต้องการให้เกิดกฎหมายที่มีกลไกในการปกป้องดูแลสวัสดิภาพช้างไทยอย่างเป็นระบบและครอบคลุม ป้องกันการกระทำที่โหดร้ายทารุณแก่ช้าง การส่งออกช้าง การครอบครองซากของช้างและผลิตภัณฑ์ช้างซึ่งยังไม่มีกลไกในเชิงกฎหมายเข้ามารองรับ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพช้างไทย
คุณอรกร ธนชลกรณ์ หัวหน้าโครงการรณรงค์องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “นับตั้งแต่ที่ภาคประชาสังคมได้ร่วมยื่นร่างพระราชบัญญัติปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ. …. เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้ว แต่ยังไม่ถูกรับรองโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งชี้ให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีเพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหาให้กับช้างเลี้ยงในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีกว่าสามพันตัวและลูกช้างที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์เพื่อการค้าอีกเป็นจำนวนมาก จนทำให้ข่าวการทำร้ายสัตว์ประจำชาติชนิดนี้กลายเป็นเหตุการณ์ปกติรายวันที่เห็นจนชินชา และด้วยสถานการณ์การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาดีขึ้นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ช้างเลี้ยงเหล่านี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหาเงิน สร้างความบันเทิง รวมถึงกลายเป็นสินค้า เช่น การนำช้างมาแสดงโชว์ที่ผิดธรรมชาติ การฝึกช้างที่ใช้ความโหดร้ายทารุณ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวทำร้ายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ท่ามกลางกระแสการคัดค้านการใช้สัตว์ป่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก
รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุว่า “ตัวชี้วัดคุณภาพของรัฐบาลในโลกปัจจุบันไม่ใช่แค่ประสิทธิภาพในการดูแลประชากรของตน แต่ยังขยายรวมไปถึงการปกป้องสิทธิของสัตว์ แม้ว่าในอุดมคติรัฐควรต้องดูแลสัตว์ทุกชนิดอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในระยะเริ่มต้นนี้ การผลักดันกฎหมายเพื่อคุ้มครองสัตว์สำคัญของประเทศอย่าง “ช้าง” จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจสาธารณะเพื่อการสร้างความยุติธรรมและเท่าเทียมให้กับสัตว์อื่นๆ ที่เหลือในอนาคตด้วย”
คุณโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยยกย่องช้างเป็นสัตว์สำคัญประจำชาติมาโดยตลอด แต่เราปฏิบัติกับช้างไม่ต่างจากทาส พอหมดยุคสงครามช้างที่ถูกใช้เป็นพาหนะก็ถูกนำมาใช้ลากซุกลากท่อนไม้ พอเลิกลากไม้เราก็ใช้ช้างในธุรกิจบันเทิง ใช้ช้างในสวนสัตว์ ละครสัตว์ หรือแม้กระทั่งปล่อยช้างให้มาเร่ร่อนขอทานในเมือง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือส่งช้างไปขายต่างแดน โดยไม่เคยมีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพช้างแม้แต่ฉบับเดียว ดังนั้นกฎหมายพ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับภาคประชาสังคมนี้จึงเป็นทางออกสำหรับช้างไทย”
คุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และผู้ร่วมยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวและมีช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากแต่สวัสดิภาพช้างไทยยังย่ำแย่ หากมี พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะช่วยให้สวัสดิภาพช้างไทยดีขึ้นโดยเฉพาะหมวดว่าด้วยกองทุนที่จะพัฒนาสวัสดิภาพช้าง ที่จะเข้ามาช่วยจัดการความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า ที่ในปัจจุบันมีเพียงระเบียบของกรมอุทยานฯที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาได้เพียงสองพันบาทในทุกกรณี ซึ่งหากเรามีพ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยเยียวยาได้เป็นอย่างดี”
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ภาคีเครือข่ายฯผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์และคนไทย 15,938 คน ได้ร่วมเสนอร่างพระราชบัญญัติปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ. …. เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐสภาได้มีหนังสือเลขที่ สผ. 0014/6906 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2565 วินิจฉัยว่าร่างฯ ฉบับดังกล่าวเข้าข่าย พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการเงินและได้นำเสนอให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณารับรองผ่านสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าในขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่อย่างใด
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก อาสาสมัคร พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการปกป้องสัตว์ จึงขอเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งประกาศและให้การรับรองร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยทันทีเพื่อให้รัฐสภาได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยภาคีเครือข่ายจะยังคงติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
การเรียกร้องให้เกิดการตรากฎหมาย พ.ร.บ.ช้างไทย อยู่ภายใต้โครงการสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง (Wildlife. Not Entertainers.) ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เป็นการรณรงค์ระดับโลกให้ยุติการนำสัตว์ป่ามาเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะในกรณีการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับสัตว์ป่าเหล่านั้น ซึ่งครอบคลุมถึง ช้าง เสือ โลมา หมี และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ โดยเน้นย้ำถึงจุดยืนที่สำคัญว่าสัตว์ป่าไม่ใช่สินค้าหรือเครื่องมือหาผลประโยชน์ของมนุษย์ สัตว์ป่าสมควรจะได้อยู่ในป่า และมีโอกาสใช้ชีวิตตามธรรมชาติอย่างอิสระ
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th
รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย www.worldanimalprotection.or.th/Elephant-Bill