สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ,สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย , ธนาคารจิตอาสา , พลังวรรณกรรมเพื่อสร้างพลังชีวิต จัดโครงการ “ศิลปะยาใจ ฝ่าภัยโควิด-19″ หวังใช้งานศิลปะเป็นสิ่งปลอบประโลมใจให้แก่ประชาชนที่กำลังท้อแท้สิ้นหวังในภาวะวิกฤติ “โควิด-19” โดยเชิญชวนศิลปิน นักวาด นักการ์ตูน ช่างภาพ หรือประชาชนคนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ร่วมส่งผลงานเพื่อปลุกพลังใจให้แก่เพื่อนร่วมสังคม โดย “นางสุดใจ พรหมเกิด” ผจก.แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เล่าถึงที่มาโครงการนี้ว่า
ในช่วงภาวะวิกฤติโรคระบาดหนัก เป็นห้วงเวลาที่ยากลำบากของทุกคนในเวลานี้ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญนะคะ เราในฐานะคนทำงานด้านการรณรงค์เรื่องการอ่านการเขียนมาโดยตลอด ที่แม้จะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ในสังคม แต่เราก็อยากให้งานของเรานี้เป็นส่วนหนึ่งในการมอบสิ่งดีๆ ให้กับเพื่อนพี่น้องคนไทยด้วยกัน จึงคิดว่าใช้งานศิลปะเป็นสื่อกลางในการส่งต่อกำลังใจดีๆ น่าจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงทุกคนได้ง่าย เพราะภาพเพียงหนึ่งภาพ บางทีอาจให้ความรู้สึกมากมายต่อผู้ที่ได้เห็น คนเราสามารถสัมผัสภาพได้ทันทีที่เห็น แม้จะไร้คำพูดก็จริง แต่เห็นแล้วเข้าใจ-เข้าถึงได้ทันที เป็นสิ่งที่ทรงพลัง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพถ่ายก็ตาม แล้วถ้าภาพมาบวกกับถ้อยคำ บทกลอนต่างๆ ก็จะยิ่งช่วยในเรื่องจิตใจมากขึ้นอีก แนวคิดนี้จึงได้เกิดเป็น “ศิลปะยาใจ ฝ่าภัยโควิด-19” ขึ้นมาค่ะ จากนั้นเราก็ได้ชวนกลุ่มนักวาดการ์ตูน “เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม” เพื่อให้ทำตัวอย่างภาพขึ้นมา และก็เชิญผลงานของนักเขียนดังๆ เช่น คุณอี๊ด-ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณกรรม ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานของเราด้วยนะคะ ทางคุณอี๊ดก็ช่วยเขียนกลอนสร้างแรงบันดาลใจ ส่งมาให้นำร่องก่อนเพื่อให้ผู้คนได้เห็นภาพ พอเราโพสต์ภาพลงไปไม่นาน ก็ปรากฏว่ามีประชาชนทั่วไป มีน้องๆ เยาวชนส่งผลงานกันมาเยอะมาก ทำให้ได้รู้ว่าพวกเราคนไทยมีน้ำใจ มีจิตใจที่ห่วงใยเพื่อนร่วมประเทศด้วยกันเอง สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สื่อสารผ่านภาพที่ส่งกันมา สัมผัสได้ถึงหัวใจของทุกคน ซึ่งผลงานบางส่วนที่ส่งกันเข้ามาก็จะถูกนำไปแสดงที่ศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยค่ะ
นอกจากนี้ยังมีศิลปินนักวาดการ์ตูนชื่อดัง “สละ นาคบำรุง” หนึ่งในสมาชิก “เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม” ที่ใช้งานศิลปะทำงานเพื่อช่วยสังคมเสมอมา โดยครั้งนี้เลือกส่งผลงานภาพถ่ายแมวมาร่วมเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ ซึ่งได้เล่าถึงความรู้สึกในการร่วมกิจกรรมครั้งว่า
“เวลานี้ผมเชื่อว่าผู้คนส่วนมากคืออยู่กับความเครียด ทุกข์ใจ ท้อแท้ สิ้นหวัง และแบกความความรู้สึกนี้มาเป็นเวลาที่ยาวนานมาก กำลังใจที่มีก็คงจะแทบหมดแรงกันแล้ว จึงอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งกำลังใจ อะไรที่ทำได้ก็อยากจะลงมือทำเพื่อเป็นอีกแรงพลังให้กับผู้คน และสิ่งที่คนทำงานศิลปะที่พอจะทำได้ก็คือ การใช้งานของเราช่วยให้เยียวยาหัวใจได้ไม่มากก็น้อย คิดว่าอย่างน้อยภาพของเรา งานของเราก็อาจจะทำให้คนที่ได้เห็นได้หยุดพัก มองมาและเกิดความรู้สึกกับภาพและคำที่อยู่ในภาพ อย่างน้อยเพียงเสี้ยววินาที่ที่เค้าได้หันมองมาแล้วเกิดความรู้สึกกับภาพนั้น นั่นก็ช่วยทำให้ใจเค้าเกิดความรู้สึกด้านบวกขึ้นมานิดหนึ่งก็ยังดี อย่างภาพของผมที่ส่งไปร่วมกับโครงการเป็นภาพถ่ายแมว ใช้ตัวแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านของหลายๆ คน ซึ่งสัตว์เลี้ยงมีความน่ารักในตัวเองอยู่แล้ว ก็จะทำให้ผ่อนคลายได้บ้าง ซึ่งตอนนี้ข่าวสารมันเต็มไปหมด บางทีเราพักกับเรื่องที่ทำให้เราเครียดเปลี่ยนมาโฟกัสในแง่มุมดีๆ สิ่งดีๆ บ้าง เลือกที่จะมองอะไรที่เป็นพลังงานบวก วางเรื่องหนักๆ ลงก่อน ให้กำลังใจตัวเอง เพราะถ้าใจเราเข็มแข็ง ตัวเราเองมีพลังแล้วมันก็จะสามารถไปบอกคนอื่นได้อีก ดูแลคนอื่นต่อได้อีก สุดท้ายนี้ผมอยากส่งกำลังใจให้เพื่อนพี่น้องของเราทุกท่าน ว่าในทุกปัญหาในทุกวิกฤติ สุดท้ายแล้วมันจะมีทางออกเสมอ ไม่ด้วยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง ส่วนหนึ่งที่ผมพูดได้แบบนี้คือเราก็อายุเยอะแล้ว เราเจอมาหลายวิกฤติหลายปัญหา ก็เลยรู้ว่าสุดท้ายแล้วมันก็จะผ่านไปตามวัฏจักร แต่ในระหว่างทางนี้เราต้องถอยออกมา เอาตัวเองออกมาแล้วมองเข้าไป ออกมาอยู่ข้างนอกแล้วมองกว้างๆ บางทีเราจะเห็นอะไรมากขึ้นกว่าที่เราอยู่ตรงกลาง เราต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองครับ”
สำหรับโครงการศิลปะยาใจนี้เป็นหนึ่งในงานที่ สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ดีให้กับสังคม ผู้ที่สนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อกำลังใจ สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขนาด 1 หน้ากระดาษ A4 (ไม่จำกัดเทคนิค) พร้อมข้อความให้กำลังใจ ส่งมาที่ Inbox เฟชบุ๊กเพจ “อ่านยกกำลังสุข” https://www.facebook.com/HappyReadingNews โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือก จะถูกนำมาเผยแพร่ทางเพจอ่านยกกำลังสุข อ่านยาใจ เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม และทุกเพจเครือข่าย อีกทั้งจะได้นำไปรวบรวมจัดทำเป็น E-Book ต่อไปในอนาคต