-ชูจุดแข็งผลิตภัณฑ์จากประเทศตุรกีถือเป็นสินค้าคุณภาพสูง ผลิตตามมาตรฐานสากล ราคาแข่งขันได้ในตลาดเมื่อเทียบกับสินค้าจากยุโรป ตุรกีมีความได้เปรียบด้านทำเลและมีความน่าเชื่อถือ การส่งมอบสินค้าเป็นไปตามกำหนดแม้แต่ในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรง
-การจับมือเป็นพันธมิตรไทย-ตุรกี ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อห่วงโซ่อุปทานประสบภาวะชะงักงันในหลายพื้นที่ทั่วโลก
-บริษัทของตุรกีที่เข้าร่วมงานจะมาจากภาคธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องครัว อุปกรณ์การแพทย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ยา และอาหารเสริมพร้อมร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง
13 ธันวาคม 2565: สมาคมผู้ส่งออกสารเคมีและเคมีภัณฑ์แห่งอิสตันบูล (IKMIB) เตรียมจัดงาน ‘IKMIB Trade Delegation to Bangkok – B2B Meetings’ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2565 โดยงานจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้มุ่งเน้นเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและตุรกี ตลอดจนช่วยรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดไทย บริษัทไทยที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรีเพียงแค่ลงทะเบียนล่วงหน้าที่ www.trademission.biz เท่านั้น
นายเจมิล ทาการ์ (Mr.Cemil Cakar) ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกสารเคมีและเคมีภัณฑ์แห่งอิสตันบูล (IKMIB) และหัวหน้าคณะผู้แทนการค้า IKMIB สู่แดนไทย กล่าวว่า “งานจับคู่ทางธุรกิจจะปูทางไปสู่การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจหรือเปิดทางให้บริษัทไทยและตุรกีได้ผนึกกำลังและยกระดับความสามารถในการแข่งขันผ่านการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ บริษัทตุรกีทั้ง 29 แห่งที่มาร่วมงานล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งจากภาคเคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง & ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องใช้ในบ้าน & เครื่องครัว อุปกรณ์การแพทย์ & ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ และยา & อาหารเสริม โดยผู้แทนของบริษัทเหล่านี้จะมานำเสนอผลิตภัณฑ์ตัวอย่างพร้อมแสดงศักยภาพให้เห็นว่าพวกเขาจะสามารถช่วยเสริมแกร่งให้กับพันธมิตรไทยได้อย่างไร”
“เราจะสร้างเวทีให้ทุกท่านได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลเบื้องลึก สำรวจความเป็นไปได้ทางธุรกิจและทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาทั้งธุรกิจของไทยและภาคธุรกิจของเราต่อไป” นายทาการ์กล่าว “เรามาประเทศไทยเพราะต้องการสื่อสารและเน้นย้ำให้ทราบโดยทั่วกันว่า ปัจจุบัน ตุรกีคือประเทศทางเลือกที่สำคัญสำหรับธุรกิจที่มองหาสินค้าที่ต้องการ ตุรกีส่งของได้เร็วกว่า มีสินค้ามีคุณภาพสูงในราคาที่จับต้องได้”
งาน ‘ IKMIB Trade Delegation to Bangkok – B2B Meetings’ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยมีบริษัทชั้นนำของไทยไม่ต่ำกว่า 50 แห่งแสดงความประสงค์จะเข้าร่วมงานแล้ว บริษัทตุรกีแต่ละแห่งจะรับนัดหมายพูดคุยกับตัวแทนของบริษัทค้าปลีก ผู้จัดจำหน่ายหรือผู้ผลิตชั้นนำของไทยราว 5-7 แห่งภายในงานเพื่อสานต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจต่อไป
ผลิตภัณฑ์จากประเทศตุรกีถือเป็นสินค้าคุณภาพสูง ผลิตตามมาตรฐานสากล แต่ราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าจากยุโรป ยิ่งไปกว่านั้น ตุรกีมีความได้เปรียบด้านทำเลและมีความน่าเชื่อถือ การส่งมอบสินค้าเป็นไปตามกำหนดแม้แต่ในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรง ในปี 2564 มูลค่าสินค้าส่งออกของตุรกีสูงถึง 2.88 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงยอดส่งออกสินค้ามาไทยจำนวน 236.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย โดยเป็นการส่งออกสารเคมีอนินทรีย์ โลหะมีค่าและไอโซโทปจำนวน 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสารเคมีอินทรีย์จำนวน 1.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หากแยกย่อยตามประเภทสินค้าจะพบว่าตุรกีส่งออกเคมีภัณฑ์ (เครื่องสำอาง น้ำมันแร่ พลาสติก กาว สีและยา) รวมมูลค่า 68.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐมายังประเทศไทยในปี 2564 นั้น ยอดขายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดขายพลาสติก 4.2 ล้านดอลลาร์ และยอดขายผลิตภัณฑ์ยา 5.8 ล้านดอลลาร์
“เรายังมีโอกาสอีกมากที่จะเพิ่มยอดตัวเลขส่งออกจากตุรกีและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน ยกตัวอย่างเช่น เรามีเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงามที่จะพร้อมรองรับอุตสาหกรรมความงามของไทย รวมทั้งยังมียาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พร้อมเสริมแกร่งให้ไทยในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์หรือ Medical Hub อีกด้วย” ตัวแทนของ IKMIB กล่าว
สำหรับการจัดงานจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้ IKMIB ได้ทำงานร่วมกับแคนวาสโค (Canvassco) ซึ่งเป็นเอเยนซีจัดทำการตลาดและสร้างอุปสงค์ระดับมืออาชีพ (Demand Generation) พร้อมต่อยอดธุรกิจด้วยการประสานงานผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมการค้าอีกหลายแห่ง จึงมั่นใจได้ว่างาน ‘คณะผู้แทนการค้า IKMIB สู่แดนไทย’ จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
นางสาวพรประพันธ์ ศรีโยธา ผู้บริหารของแคนวาสโค (Canvassco) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานอย่างเป็นทางการของงาน ’ IKMIB Trade Delegation to Bangkok – B2B Meetings’ กล่าวย้ำว่า บริษัทไทยไม่ควรพลาดโอกาสที่จะพบปะบริษัทตุรกีในครั้งนี้เพราะบริษัทเวียดนามกำลังเตรียมคว้าโอกาสสำคัญทางธุรกิจผ่านงานจับคู่ทางธุรกิจลักษณะเดียวกันที่จะจัดขึ้นในเดือนเดียวกันนี้
“ประเทศไทยมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็งแล้ว รวมถึงยังมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หากเลือกจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้จัดหาหรือจัดส่งสินค้าที่ใช่ ประเทศไทยจะตอบสนองต่อกระแสความต้องการสินค้าคุณภาพสูงขึ้นของผู้บริโภคได้ดีและยังรักษาตำแหน่งศูนย์กลางทางการค้าของตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม) ไว้ได้อีกด้วย” นางสาวพรประพันธ์กล่าว “งาน IKMIB – Trade Delegation to Bangkok ไม่เพียงเป็น 1 ในกิจกรรมที่จะช่วยสร้างยอดอุปสงค์ หากแต่ยังจะเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือทางธุรกิจสำหรับหลายบริษัทด้วยเช่นกัน”