โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากภูมิปัญญาฝ้ายท้องถิ่นภาคเหนือด้วยทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการสืบทอดความรู้กันเรื่องปลูกฝ้าย ปั่นฝ้าย ประกอบกับกิจกรรมประเพณียี่เป็งตานประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือก “เดินฮีต ต๋ามฮอย ฝั่นฝ้ายตี๋นก๋า รำลึกแม่ก๋าเผือก ปู๋จาพระธาตุเจ้าขิงแกง” เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่ได้มาจากรากวัฒนธรรมดั้งเดิม ในการจุดประทีปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา สืบเนื่องจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมากับวัดพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ในการส่งเสริมให้มีการปลูกฝ้ายหลวงเพื่อนำฝ้ายที่ได้มาใช้ทำไส้ผางประทีปตีนกา สำหรับใช้ในงานบุญประเพณียี่เป็ง และได้สนับสนุนให้มีการสร้าง โฮงฝ้ายหลวงวัดพระธาตุขิงแกง สำหรับเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นในการปั่นฝ้าย แล้วนำมาฝั้นเป็นตีนกา หล่อขี้ผึ้งเป็นผางประทีปตีนกา สำหรับใช้ประเพณียี่เป็ง ซึ่งทางวัดพระธาตุขิงแกง ได้ให้ชุมชนมีส่วนร่วมกันในการจัดทำขึ้นเพื่อจุดบูชาพระธาตุขิงแกง ปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ตามพันธกิจด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมความเป็นไทยให้กับนิสิตนักศึกษา และประชาชนในท้องถิ่น ของมหาวิทยาลัยพะเยา
เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๓๐ น. รองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ ให้เกียรติเป็นประธานใน พิธีเปิด โฮงฝ้ายหลวงวัดพระธาตุขิงแกง ภายใต้โครงการโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากภูมิปัญญาฝ้ายท้องถิ่นภาคเหนือด้วยทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ร่วมกับ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) และสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา โดยมี ผู้ช่วยอธิการบดี อาจารย์จารุวรรณ โปษยานนท์ หัวหน้าโครงการ กล่าวรายงาน โดยมี คุณจุฬาสินี โรจนคุณกำจร คณะกรรมการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกิจกรรมด้วย กิจกรรมภายในงานมีการสาธิตการฝั้นฝ้ายเป็นตีนกา การปั่นฝ้าย จากเยาวชนชุมชนวัดพระธาตุขิงแกง พิธีตานหลัวหิงไฟพระเจ้าตามความเชื่อของชาวล้านนา ร่วมฟังธรรมเทศนาจากพระครูนิปุณพัฒนกิจ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุขิงแกง เทศน์ธรรมอานิสงส์ฟั่นฝ้ายตีนกาและตานประทีป และร่วมจุดผางประทีปจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดวง เพื่อถวายแม่กาเผือก และสักการะบูชาองค์พระธาตุขิงแกง บริเวณรอบองค์พระธาตุ จากแรงศรัทธาของประชาชน และเยาวชนในพื้นที่ร่วมแรงร่วมใจกันหล่อผางประทีปตีนกา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีลอยกระทง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
อุทยานฝ้ายหลวงและโฮงฝ้ายหลวงนี้จะเป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมในการอนุรักษ์ สืบสาน งานฝ้ายของท้องถิ่นชุมชนวัดพระธาตุขิงแกงและต่อยอดทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้สืบทอดต่อไปเพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตที่ดีงามตามประเพณีที่สืบทอดกันมา ตามยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย จึงได้ดำเนินโครงการกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในจังหวัดพะเยา เพื่อมุ่งเน้นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนยกระดับองค์ความรู้ทางศิลปและวัฒนธรรม สู่งานสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ และความเป็นสากล ตามแนวการพัฒนาอย่างยั่งยืน