พีพีทีวีผนึกผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ เอกชน ถ่ายทอดประสบการณ์ ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน

พีพีทีวีผนึกผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ เปิดเวทีเสวนาระดมสมอง ถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมชี้แนะแนวทางการใช้ “ข้อมูลสาธารณะ” เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน

ภาพข่าวการปราบปรามคอร์รัปชันในประเทศที่ปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวหลายกรณีสะท้อนให้เห็นปัญหาการทุจริตที่ยังซุกซ่อนอยู่ มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบเมื่อปี 2565 อยู่ในขั้นวิกฤตในการบรรลุเป้าหมาย นี่เป็นโจทย์ใหญ่และความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อหยุดยั้ง และกอบกู้ภาพลักษณ์ เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา

กองทุน ป.ป.ช. ได้จัดเวทีเสวนาระดมผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการมากประสบการณ์ และองค์ความรู้ มาผนึกกำลังกันเพื่อสะท้อนปัญหา ระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการแก้ไข ป้องกัน และปราบปรามการคอร์รัปชันเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ในหัวข้อ ลงทุนไทยไร้สินบน : ปลดล็อกข้อมูลรัฐ จุดเปลี่ยนปราบโกง (Open Government : Game Changer in Fight against Corruption)

โดยได้รับเกียรติจาก นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ อาวุธปราบโกงยุคดิจิทัล” “การมีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารนั้นจะช่วยให้ การเข้าถึง การพยายามทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องง่าย ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในการรับบริการต่าง ๆ

ชัชชาติย้ำ Open data ช่วยสร้างความเชื่อใจและสร้างศรัทธา

จากนั้นเป็นการเปิดวงเสวนา ในหัวข้อ “ปลดล็อกข้อมูลรัฐ จุดเปลี่ยนปราบโกง” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ Open Bangkok คือ Open data การเปิดเผยข้อมูล ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญต้องมีการเปิดเผย มิใช่การเผยแพร่ ข้อมูลเปรียบเสมือนไฟฉายที่ทำให้เราเห็นช้างที่อยู่ในมุมมืด และต้องวัดได้ เทคโนโลยีในส่วนของการเก็บข้อมูลด้วย Format เดียวกัน การอ่านข้อมูล การประมวลข้อมูล การทำ Dashboard จะช่วยให้ทุกอย่างง่ายยิ่งขึ้น สามารถวิเคราะห์ได้เลย จากการเปิดเผยข้อมูลทำให้เรามีแนวร่วมจากพลังมหาชนที่มีมหาศาลเข้ามาช่วยวิเคราะห์หาความผิดสังเกตุจากฝ่ายบริหารที่มันตัวแปรซ่อนอยู่ในเชิงนโยบาย ถ้าเราสามารถสร้างความไว้วางใจกับประชาชนได้สุดท้ายเราจะได้แนวร่วมมหาศาล การที่เรา Open data มันคือการสร้างความเชื่อใจ สร้างศรัทธา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่จะทำให้เกิดรัฐที่โปร่งใส รัฐที่ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้หน่วยงานไม่กล้าทุจริต ไม่กล้ากระทำผิด และการแจ้งเรื่องทุจริตผ่านทาง Traffy Fondue เป็นโปรแกรมง่าย ๆ เรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมาในเรื่องต่างๆ จะไม่ถูกหมกอยู่ใต้พรมอีกต่อไป ลดความล่าช้าในการปฏิบัติงานอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการแสดงความโปร่งใสในการให้บริการอีกทาง”

ดร.ต่อตระกูลเสนอให้เปิดเผยข้อมูลนักการเมืองอย่างต่อเนื่อง

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค กรรมการมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ที่จะมาสัมมนาในเรื่องของ “การเปิดเผยข้อมูลมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของการต่อต้าน ปราบปรามคอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ ที่ทำได้สำเร็จทุกประเทศคือต้องมีรัฐบาลที่เข้ามาโดยสุจริต

“ข้อมูลที่สำคัญคือข้อมูลของผู้แทนราษฎร นักการเมืองที่มีตำแหน่งในรัฐบาล ที่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อตอนเข้ามารับตำแหน่งมีทรัพย์สินเท่าไหร่ เมื่อหมดวาระแล้วเพิ่มขึ้นขนาดไหน มันเห็นชัดเจน ที่ประชาชนควรรับทราบและติดตามได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อยู่ที่ ป.ป.ช. หากติดเรื่องข้อกฎหมายก็ต้องแก้ คนในตำแหน่งสูงมีอำนาจมีอิทธิพลไม่ว่าจะทำอะไร ก็ควรจะต้องนำข้อมูลม้าปิดเผย นี่คือสิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้”

ดร.อนุสรณ์แนะทุกฝ่ายร่วมมือกันทั้งภาครัฐ สื่อ และประชาชน

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ทัศนะไว้ว่า “การจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ป.ป.ช. หน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้นำเพียงคนเดียวก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องเป็นทั้งองคาพยพของกลุ่มผู้นำทางการเมือง แล้ว ป.ป.ช.ก็เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญร่วมกับสื่อมวลชน และภาคประชาชน การกระจายอำนาจจะนำไปสู่ Open government ที่ภาครัฐจะทำงานอย่างโปร่งใส ลดทุจริต และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นส่วนนึงในระบบการปกครองที่ดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กระแสประชาธิปไตยทางตรง การบริหารแบบมีส่วนร่วม จะทำให้เป็นความโปร่งใสที่เปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน เพราะสามารถตรวจสอบภาครัฐได้ ที่สำคัญเราต้องยกย่องคนดี คนซื่อสัตย์ให้เป็น Role Model สังคม ‘ต้อง’ ให้ความสำคัญเรื่องนี้ให้เป็นแบบอย่างที่ถูกต้อง

รองประธานส.อ.ท.ชี้พลังโซเชียลมีเดียช่วยลดคอร์รัปชั่นขนาดเล็ก

นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า คอร์รัปชั่นใหญ่ที่มีความซับซ้อนเชิงนโยบายจะยังคงอยู่ แต่ที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ คอร์รัปชั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ลดลง เพราะด้วยเทคโนโลยี โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท ทุกคนเป็นนักสืบ เป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์ เมื่อทุกคนช่วยกันก็ทำให้ทุจริตเหล่านี้หายไป ต้องมีการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย ลดเรื่องการขอใบอนุญาต ลดการใช้อำนาจการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง มีการกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเข้ามาทดแทน โทษต้องหนักและปรับให้ได้จริง ๆ ประชาชนต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมา ปัญหาการคอร์รัปชั่นก็จะลดลงได้

โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการสัมมนาและนำซักถาม

อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.thaipr.net/general/3343248