กองทุนโอเปกเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (OPEC Fund for International Development) ได้ทุ่มเงินสนับสนุนรวมถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 โดยมีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อวาระการพัฒนาระดับโลกในปีที่แล้ว กองทุนโอเปก ซึ่งครบรอบ 46 ปีในวันที่ 28 มกราคม ได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานผ่านการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดเล็ก กลาง และขนาดย่อม (MSME) ทั้งยังได้จัดหาเงินทุนที่จำเป็นสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ด้วยการนำวงเงินเยียวยา 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
อับดุลฮามิด อัลคาลิฟา ผู้อำนวยการใหญ่กองทุนโอเปก กล่าวว่า “ความแข็งแกร่งทางการเงินและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศหุ้นส่วนและลูกค้าของเรา ทำให้กองทุนโอเปกตอบสนองความต้องการเร่งด่วนในประเทศเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในปี 2564 การส่งมอบที่แข็งแกร่งของเรามอบประโยชน์ให้โครงการต่าง ๆ มากมายที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้คนและปรับปรุงความเป็นอยู่ของพวกเขา ในขณะที่เรายังคงดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราก็ยังสร้างผลงานที่มีขนาดใหญ่ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั่วโลกได้ และในวาระครบรอบ 46 ปีและเริ่มต้นปีใหม่ ผลงานในปี 2564 ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เรา โดยมอบความมั่นใจและความทะเยอทะยานที่จะส่งมอบความช่วยเหลือที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาในปีนี้”
สถานะของกองทุนโอเปกในฐานะสถาบันพัฒนาระดับพหุภาคี ยังได้รับการยอมรับในปี 2564 จากหน่วยงานจัดอันดับชั้นนำของโลกอย่างฟิทช์ (Fitch) และเอสแอนด์พี (S&P) ด้วย ในการประเมินกองทุนโอเปกครั้งแรก ฟิทช์ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของกองทุนโอเปกไว้ที่ AA+/Outlook Stable โดยยก “การใช้เงินทุนเป็นเลิศ” ของกองทุนเป็นจุดเด่น ขณะที่เอสแอนด์พีจัดอันดับความน่าเชื่อถือของกองทุนโอเปกไว้ที่ AA/A-1+, Positive Outlook พร้อมเน้นย้ำจุดแข็งของกองทุนโอเปกในเรื่อง “ความแข็งแกร่งของเงินทุนและสถานะสภาพคล่อง”
หลังจากการระบาดของโควิด-19 กองทุนโอเปกได้ตั้งวงเงินไว้ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกใช้อย่างเต็มที่ภายในสิ้นปี 2564 กองทุนโอเปกได้ประสานงานกับประเทศพันธมิตรและผู้บริจาครายอื่น ๆ โดยใช้กระบวนการอนุมัติที่คล่องตัว ซึ่งช่วยให้มอบเงินทุนที่จำเป็นเร่งด่วนได้อย่างรวดเร็ว การดำเนินงานภายใต้วงเงินเยียวยาโควิด-19 นี้รวมถึงเงินกู้จำนวน 70.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับจอร์แดนเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการของรัฐบาล และวงเงิน 10.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นประโยชน์แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในมัลดีฟส์
กองทุนโอเปกยังคงมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในปี 2564 โดยเมื่อดูในรายละเอียดของการดำเนินงานแล้ว เงินที่ตกลงกันไว้ 496 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้รับการจัดสรรสำหรับภาคการเงิน ซึ่งโดยปกติแล้วใช้สำหรับการให้กู้ยืมแก่ MSME หรือธุรกิจที่นำโดยผู้หญิง ส่วนภาคอื่น ๆ ได้แก่ เกษตรกรรม (211 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) การขนส่งและการเก็บรักษา (205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) พลังงาน (153 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ความช่วยเหลือด้านสินค้าโภคภัณฑ์ (137 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) น้ำและสุขาภิบาล (20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และการดูแลสุขภาพ (15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับโครงการที่บูรณาการหลายภาคส่วนนั้นได้รับเงิน 246 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในภาคพลังงาน กองทุนโอเปกได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ชนะรางวัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงพลังงานในประเทศหุ้นส่วนอย่างมีนัยสำคัญ และช่วยจัดการกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ในความร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศ กองทุนโอเปกได้ให้เงินกู้ยืมเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างและการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า Sirdarya ในอุซเบกิสถาน ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจนถึงปัจจุบัน และโรงไฟฟ้าก๊าซ Temane ในโมซัมบิก ซึ่งคาดว่าจะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้สูงสุด 1.5 ล้านครัวเรือน
การจัดหาเงินทุนของกองทุนโอเปกมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนโครงการริเริ่มการพัฒนาต่าง ๆ ของภาครัฐในประเทศพันธมิตรด้วยเงิน 686 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (46%) ในขณะที่การเงินเพื่อการค้ามีมูลค่า 444 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30%) และสินเชื่อภาคเอกชนมีมูลค่ารวม 353 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564
ในแง่ของการกระจายเงินไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทางกองทุนได้จัดสรรเงินให้ภูมิภาคแอฟริกาไป 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (51%) ตามมาด้วยเอเชีย 536 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (36%) และลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 177 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12%)
การที่คณะกรรมการบริหารกองทุนโอเปกนำนโยบาย ESG ที่ได้รับการปรับปรุงมาใช้ในปี 2564 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ 2030 ของสถาบัน กรอบนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้กองทุนโอเปกขยายการดำเนินงาน และเพิ่มผลกระทบเพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนภาวะฉุกเฉิน เช่น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม
ก้าวสำคัญสู่เป้าหมายนี้คือการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของกองทุนโอเปก โดยการกระชับความร่วมมือกับสถาบันการพัฒนาระหว่างประเทศและองค์กรพันธมิตร โดยในปี 2564 กองทุนโอเปกได้ให้เงินทุนสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา, ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย, IFAD, กลุ่มประสานงานอาหรับ, ธนาคารโลก และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) นอกจากนี้ กองทุนโอเปกยังได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อยกระดับและส่งเสริมความร่วมมือในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนกับ Andean Development Bank (CAF – Corporaci?n Andina de Fomento) ด้วย
เกี่ยวกับกองทุนโอเปก
กองทุนโอเปกเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (OPEC Fund) เป็นสถาบันเพื่อการพัฒนาที่มีการควบคุมระดับโลกเพียงแห่งเดียวที่จัดหาเงินทุนจากประเทศสมาชิกให้กับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกโดยเฉพาะ องค์กรทำงานร่วมกับพันธมิตรประเทศกำลังพัฒนาและชุมชนการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคมในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางทั่วโลก กองทุนโอเปกก่อตั้งขึ้นโดยประเทศสมาชิกของโอเปกในปี 2519 โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการพัฒนา เสริมสร้างชุมชน และส่งเสริมผู้คน งานของเราเน้นคนเป็นศูนย์กลาง โดยให้ความสำคัญกับการจัดหาเงินทุนสนับสนุนโครงการที่ตอบสนองความต้องการที่จำเป็น เช่น อาหาร พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน การจ้างงาน (โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ MSME) น้ำสะอาด และสุขาภิบาล การดูแลสุขภาพ และการศึกษา กองทุนโอเปกได้มอบเงินทุนให้กับโครงการพัฒนามากกว่า 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในกว่า 125 ประเทศจนถึงปัจจุบัน โดยมีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 187,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิทช์ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของกองทุนโอเปกไว้ที่ AA+/Outlook Stable ขณะที่เอสแอนด์พีได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของกองทุนโอเปกไว้ที่ AA/A-1+, Positive Outlook ในปี 2564 ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ของเราคือการสร้างโลกที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนกลายเป็นความจริงสำหรับทุกคน
โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/1584526/OPEC_Fund_Logo.jpg