CGTN: จีนมุ่งมั่นปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำและสร้างอนาคตร่วมกันสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

ประชากรโลกมากกว่าหนึ่งพันล้านคนต้องพึ่งพาพื้นที่ชุ่มน้ำในการดำรงชีวิต หรือคิดเป็นสัดส่วนราวหนึ่งในแปดของคนทั้งโลก อย่างไรก็ตาม พื้นที่ชุ่มน้ำกลับเป็นระบบนิเวศที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก

ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกราว 35% ได้หายไปนับตั้งแต่ปี 2513

การประชุมสมัชชาภาคี ครั้งที่ 14 (COP14) ของอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention on Wetlands) ภายใต้หัวข้อ “ลงมือทำเพื่อพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อธรรมชาติและมวลมนุษย์” (Wetlands Action for People and Nature) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-13 พฤศจิกายน โดยสถานที่จัดงานหลักอยู่ที่เมืองอู่ฮั่นของจีน และมีการประชุมคู่ขนานที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์

การประชุมครั้งนี้ทำให้เราได้มีโอกาสสร้างความตระหนักรู้ เสริมสร้างความร่วมมือ และขยายการดำเนินงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันเสาร์ผ่านทางวิดีโอในพิธีเปิดงาน

นายสี จิ้นผิง ให้คำมั่นว่าจีนจะส่งเสริมความกลมกลืนระหว่างมนุษยชาติกับธรรมชาติในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงในด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ

สิ่งที่จีนลงมือทำ

จีนมีพื้นที่ชุ่มน้ำคิดเป็นสัดส่วน 4% ของโลก ซึ่งรองรับความต้องการที่หลากหลายของประชากรโลกถึงหนึ่งในห้า ทั้งในด้านการผลิต การดำรงชีวิต นิเวศวิทยา และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุ่มน้ำ

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนประสบความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ โดยจีนสามารถเพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำเป็น 56.35 ล้านเฮกตาร์ รวมถึงวางระบบป้องกันพื้นที่ชุ่มน้ำ และบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ

นับตั้งแต่ลงนามในอนุสัญญาแรมซาร์เมื่อปี 2535 จีนได้กำหนดและปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงระบบจัดการการป้องกัน การวางแผนโครงการ การตรวจสอบและติดตาม นอกจากนั้นยังได้ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาและขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลกลางจีนจัดสรรงบประมาณ 1.98 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.73 พันล้านดอลลาร์) ให้กับโครงการมากกว่า 4,100 โครงการ เพื่อยกระดับการปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2546

ปัจจุบัน จีนมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ 64 แห่ง และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ 29 แห่ง รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติ 901 แห่ง

เมื่อเดือนที่แล้ว จีนได้ประกาศแผนคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำสำหรับช่วงปี 2565-2573 โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำเป็น 55% ภายในปี 2568 พร้อมกับเพิ่มจำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติอีก 20 และ 50 แห่งตามลำดับ

ประธานาธิบดีจีนยังได้ประกาศแผนเพิ่มเติมในการรวมพื้นที่ชุ่มน้ำ 11 ล้านเฮกตาร์เข้าสู่ระบบอุทยานแห่งชาติของประเทศ พร้อมกล่าวเสริมว่าแผนการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติและโครงการอนุรักษ์ที่สำคัญจะถูกนำมาใช้

เส้นทางสู่การอนุรักษ์ระบบนิเวศทั่วโลก

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจีนได้เรียกร้องให้มีความพยายามสร้างฉันทามติระดับโลกเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ การพัฒนากระบวนการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก และการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนทั่วโลกโดยใช้ประโยชน์จากบทบาทของพื้นที่ชุ่มน้ำ

นอกจากนี้ นายสี จิ้นผิง ประกาศว่า จีนจะสร้างศูนย์ป่าชายเลนระดับนานาชาติในเซินเจิ้น และสนับสนุนการประชุมชายฝั่งโลก (World Coastal Forum)

สมุดปกขาวว่าด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของจีนระบุว่า จีนได้ให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 80 ประเทศในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพภายใต้กรอบความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation)

ขณะเดียวกัน จีนได้ทำให้ความร่วมมือทางนิเวศวิทยาเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยในปี 2564 จีนได้เปิดตัวโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Green Development Partnership Initiative) ร่วมกับ 31 ประเทศคู่ค้า รวมถึงเรียกร้องให้สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ยืดหยุ่น และครอบคลุม หลังสถานการณ์โรคระบาด

นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมและกิจกรรมระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอดสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (United Nations Summit on Biodiversity) และการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ (Leaders’ Summit on Climate) ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของจีนในการส่งเสริมความร่วมมือทางนิเวศวิทยาทั่วโลก โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างอนาคตร่วมกันสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

https://news.cgtn.com/news/2022-11-05/Xi-addresses-COP14-on-wetlands-conservation-1eIkUeITohW/index.html

วิดีโอ – https://www.youtube.com/watch?v=XmOrg7eG5A4