Lazada

ไทยจับมือเยอรมนี เปลี่ยนผ่านพลังงาน ขับเคลื่อนขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ

(จากซ้าย) ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ ผลวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ขอนแก่น, 23 มีนาคม 2564 – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น สถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน กรุงเทพฯ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมเปิดงาน “พลังงานสะอาดขับเคลื่อนอนาคต” ณ ห้องประชุมนวราชมงคล ชั้น 3 อาคาร 50 ปีเทคนิคไทย-เยอรมัน ขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยมีดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น และนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธาน

งานนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยจากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่จะมีการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนลดลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพลังงานสีเขียวและการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแสดงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของประเทศไทยและเยอรมนีผ่านนิทรรศการและกิจกรรมร่วมสนุก

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “จากการที่จังหวัดขอนแก่นมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งในแผนการพัฒนานี้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลัก (Main Transportation System) เช่น โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เส้นทางที่ 1 สายเหนือ-ใต้ ช่วงบ้านสำราญ-บ้านท่าพระ จังหวัดขอนแก่น 16 สถานี วงเงิน 15,000 ล้านบาท และระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder Transportation System) เช่น โครงการขอนแก่นซิตี้บัส ซึ่งเปิดให้บริการมาแล้วหลายปี ซึ่งปัจจุบันรถซิตี้บัสทั้งหมดนั้นใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) จำนวนทั้งหมด 37 คัน ซึ่งวิ่งให้บริการใน 3 เส้นทาง คือ 1) สายสีเขียว จากสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ไปที่สนามบินขอนแก่น และอีก 2 สายที่วิ่งจากสถานีขนส่งแห่งที่ 3 เข้าในเมืองขอนแก่นซึ่งวิ่งบริการ 24 ชั่วโมง คือ 2) สายสีแดง 3) สายสีฟ้า จากแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ด้าน Smart Environment นั้นต้องการลดมลพิษจากระบบขนส่งมวลชนในเขตเมือง จึงมีแผนที่จะเปลี่ยนรถซิตี้บัสรุ่นเก่าในเส้นทางขอนแก่นซิตี้บัสซึ่งเป็นรถที่ใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ดีเซล ให้เป็นรถไมโครบัสไฟฟ้า และยังมีโครงการรถตุ๊กตุ๊ก มาเป็นรถตุ๊กตุ๊กอีวีฟู้ดส์ เดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าพร้อมบริการส่งอาหาร เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดขอนแก่นให้เป็นศูนย์กลางของเมืองยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือที่เรียกว่ารถอีวี (EV) และผมเชื่อว่าแนวคิดนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกและตอบสนองรูปแบบการดำรงชีวิตของคนในจังหวัดได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาเมืองสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ได้อย่างเต็มรูปแบบ ในวันนี้ผมมีความยินดีที่จะได้รับทราบแนวคิด เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการคมนาคมขนส่งของประเทศเยอรมนี เพื่อนำมาปรับใช้กับจังหวัดขอนแก่นและกับประเทศไทย แน่นอนว่าเราพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนนี้ร่วมกับประเทศเยอรมนี”

ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า “ในประเทศไทย ภาคพลังงาน เป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 43% ภาคขนส่งกว่า 27% คิดเป็นสัดส่วนรวมกว่า 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในประเทศ สิ่งนี้ทำให้เรามองเห็นได้ชัดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 53 จากทั้งหมด 115 ประเทศ ที่มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ตามตัวชี้วัดที่ชื่อ Energy Transition Index (ETI) ของสภาเศรษฐกิจโลก ผมมองว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดขอนแก่นเองก็ได้มีนโยบายเรื่อง “เมืองคาร์บอนต่ำ” และได้มีการพัฒนาแผนด้านการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายด้าน เช่น การนำขยะอาหารเข้าสู่โรงงานปุ๋ย การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากขยะอาหาร และการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของตลาดสด นอกจากนี้ ผมมองว่าการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีอัจฉริยะมาปรับใช้ ก็จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น ผมว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการขนส่ง เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต”

ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ก่อตั้งจากสัญญาความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลของประเทศเยอรมนี โดยใช้ชื่อว่า วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น หรือส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า เทคนิค ไทย-เยอรมัน เรามุ่งเน้นการให้ความรู้ทางด้านวิชาการและเทคนิคที่ผสมผสานระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมนี จนถึงวันนี้เราได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีฝีมือ พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง การดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ ไปจนถึงกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการกำลังจะเปลี่ยนไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรับมือ ปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่และหาทักษะใหม่ อย่างที่เรารู้กันว่าเยอรมนีเป็นผู้นำเทคโนโลยีในระดับโลก โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมที่ต้องยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาหลายทศวรรษ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้นำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ก็ต้องดูความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสภาพภูมิอากาศอีกด้วย”

นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย กล่าวว่า “Less is more น้อยแต่มาก ในที่นี้ หมายถึง ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้มากขึ้น และเราจะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร นิทรรศการนี้มีคำตอบ โดยนิทรรศการนี้ได้ให้แนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างอนาคตที่ดี มั่งคั่งและยั่งยืน เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก ดังนั้นเราต้องใช้ความพยายามร่วมกัน เรียนรู้กันและกัน รวมทั้งแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จและบทเรียนที่ได้รับร่วมกัน ในฐานะที่ประเทศเยอรมนี เป็นพันธมิตรด้านภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เรายินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ของเรากับจังหวัดขอนแก่นเช่นกัน พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและการขนส่งที่ยั่งยืนจะเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยและเยอรมนีจะร่วมมือกันพัฒนาในอนาคตแน่นอน”

นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ “Khon Kaen Model : Gateway to the GMS and Economic Corridors ขอนแก่นโมเดล: ประตูสู่ระเบียงเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งมีนายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคอีสาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย บริษัทพัฒนาเมือง Khon Kaen Think Tank ให้เกียรติมาร่วมบอกเล่าเรื่องราวและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องนี้

นิทรรศการ “พลังงานสะอาดขับเคลื่อนอนาคต” จะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 23 – 27 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 – 16.00 น. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น

นิทรรศการนี้ เป็นนิทรรศการสัญจรที่จัดขึ้นโดยสำนักงานต่างประเทศของรัฐบาลเยอรมนีร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

Cover-1195x771.jpg