Lazada

โลกสงบสุขน้อยลงเนื่องจากความไม่สงบทางสังคมเพิ่มมากขึ้น

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace: IEP) ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองระดับโลก ได้เผยแพร่รายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index: GPI) ฉบับที่ 15

ผลการค้นพบที่สำคัญ

– ความไม่สงบทางสังคมทั่วโลกเพิ่มขึ้นราว 10% โดยเบลารุสย่ำแย่ที่สุด ขณะที่ทั่วโลกมีการชุมนุม การประท้วง และการจลาจลรุนแรง 14,871 ครั้ง ในปี 2563
– กว่า 60% ของคนทั่วโลกกังวลว่าจะได้รับอันตรายร้ายแรงจากอาชญากรรมรุนแรง
– ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก ขณะที่อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลก
– แม้ว่าสถานการณ์การขยายอิทธิพลทางทหารจะดีขึ้นนับตั้งแต่ปี 2551 แต่ตอนนี้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าแนวโน้มดังกล่าวกำลังสวนทาง
– ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในปี 2563 สู่ระดับ 14.96 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับ 11.6% ของจีดีพีทั่วโลก หรือเท่ากับ 1,942 ดอลลาร์ต่อคน อันเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้น
– ยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน

ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโควิด -19

– ในปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อความรุนแรง โดยบางปัจจัยชี้วัดก็ดีขึ้น เช่น ความขัดแย้งรุนแรง แต่บางปัจจัยชี้วัดก็แย่ลง เช่น การชุมนุมด้วยความรุนแรง โดยประเทศที่สถานการณ์แย่ลงมีมากกว่าประเทศที่สถานการณ์ดีขึ้นถึง 3 เท่า
– ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้น โดยประเทศที่สถานการณ์แย่ลงมีมากกว่าประเทศที่สถานการณ์ดีขึ้น 2 เท่า
– เกิดการประท้วงต่อต้านมาตรการเกี่ยวกับโควิดในวงกว้าง โดยเกิดเหตุกว่า 5,000 ครั้งทั่วโลก
– หลายประเทศ เช่น อินเดีย ชิลี อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และแอฟริกาใต้ ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมมากเป็นพิเศษ
– สาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย เยอรมนี ไอร์แลนด์ ลิทัวเนีย เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สโลวีเนีย และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ฟื้นตัวหลังโควิด-19 ได้ดีที่สุด

รายงานดัชนีสันติภาพโลก ฉบับที่ 15 ซึ่งเป็นรายงานชั้นนำของโลกที่ชี้วัดความสงบสุขทั่วโลก ได้เผยให้เห็นว่า ระดับความสงบสุขโดยเฉลี่ยทั่วโลกลดลงเป็นครั้งที่ 9 ในรอบ 12 ปี ในปี 2563 โดย 87 ประเทศมีความสงบสุขมากขึ้น ขณะที่ 73 ประเทศมีความสงบสุขลดลง นับว่าน้อยที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของการจัดทำดัชนี แต่รายงานระบุว่าความสงบสุขเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าความสงบสุขลดลง และในขณะที่ทั่วโลกมองไปที่การฟื้นตัวจากโควิด-19 ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความไม่สงบทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา

ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยครองตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2551 ตามมาด้วยนิวซีแลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส และสโลวีเนีย ขณะที่อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ตามมาด้วยเยเมน ซีเรีย เซาท์ซูดาน และอิรัก นอกจากนี้ รายงานระบุว่า 8 จาก 10 ประเทศที่สงบสุขที่สุดเป็นประเทศในยุโรป นับว่าจำนวนประเทศในยุโรปที่ติดท็อป 10 มีสัดส่วนสูงสุดในประวัติศาสตร์ของการจัดทำดัชนี

ความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เนื่องจากความขัดแย้งลดลงอย่างมาก ถึงกระนั้นก็ยังเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลก ทั้งนี้ อิรักเป็นประเทศที่มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองแค่ยูเครน ส่วนบูร์กินาฟาโซมีความสงบสุขลดลงมากที่สุดในโลก โดยร่วงลงมาถึง 13 อันดับ

ปัจจัยชี้วัดที่ย่ำแย่ลงมากที่สุดในดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2564 คือค่าใช้จ่ายทางทหาร (105 ประเทศ), การนำเข้าอาวุธ (90 ประเทศ), ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง (46 ประเทศ) และการชุมนุมด้วยความรุนแรง (25 ประเทศ) ส่วนปัจจัยชี้วัดที่ดีขึ้นมากที่สุดประกอบด้วยการก่อการร้าย (115 ประเทศ), ความขัดแย้งภายใน (21 ประเทศ) และการเสียชีวิตจากความขัดแย้งภายใน (33 ประเทศ)

Steve Killelea ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ IEP กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความสงบสุขทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าระดับความขัดแย้งและการก่อการร้ายจะลดลงในปี 2563 แต่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและการชุมนุมด้วยความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลกระทบของโควิดที่มีต่อเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในประเทศที่ลำบากอยู่แล้วก่อนเกิดโรคระบาด”

ความไม่สงบทางสังคมและโควิด -19

แนวโน้มเชิงลบที่สำคัญในปีที่ผ่านมาคือความไม่สงบทางสังคมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งย่ำแย่ลงเพราะสถานการณ์โรคระบาด

ภูมิภาคที่ความสงบสุขลดลงมากที่สุดคืออเมริกาเหนือ อันเป็นผลมาจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การฆาตกรรม และการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น โดยเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เช่น การบุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐ และการประท้วง Black Lives Matter ทั่วประเทศ ทำให้ความไม่สงบทางสังคม ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และความขัดแย้งภายในเพิ่มมากขึ้นในปี 2563

ในขณะที่ทั่วโลกประกาศล็อกดาวน์ ระดับความไม่สงบทางสังคมและการเมืองก็เพิ่มขึ้น โดยในระหว่างเดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2564 เกิดเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดมากกว่า 5,000 ครั้ง และปัจจัยชี้วัดในส่วนของการชุมนุมด้วยความรุนแรงก็ย่ำแย่ลงใน 25 ประเทศ และมีเพียง 8 ประเทศที่ดีขึ้น นอกจากนี้ คะแนนการชุมนุมด้วยความรุนแรงยังอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีขึ้นมา โดยประเทศที่ย่ำแย่ลงที่สุดประกอบด้วยเบลารุส เมียนมา รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐคีร์กีซ

ในช่วงที่เกิดโรคระบาดนั้น ประเทศที่มีความสงบสุขมากกว่าจะมีความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยประเทศที่มีความสงบสุขในระดับสูง หรือ High Peace* มีจำนวนชั่วโมงทำงานลดลงไม่ถึง 7% ส่วนประเทศที่มีความสงบสุขในระดับต่ำมีจำนวนชั่วโมงทำงานลดลงถึง 23% จากรายงานธุรกิจและสันติภาพประจำปี 2564 ของ IEP

การฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบหลังสถานการณ์โรคระบาดไม่อาจเกิดขึ้นโดยเร็วหรือง่ายดาย และมีแนวโน้มว่าจะไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีสภาพการเงินอ่อนแอจะลำบากกว่าประเทศอื่น ทั้งนี้ อิเควทอเรียลกินี เซียร์ราลีโอน และลาว เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่ความสงบสุขจะลดลงอย่างมาก

แม้ว่ายุโรปจะเกิดการประท้วงหลายครั้งในปีที่ผ่านมา แต่ภูมิภาคนี้ยังคงมีความสงบสุขมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก็เพิ่มขึ้นทั่วภูมิภาค รวมถึงปัจจัยชี้วัดสำคัญอย่างการขยายอิทธิพลทางทหาร ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายทางทหาร การนำเข้าอาวุธ แสนยานุภาพทางนิวเคลียร์และอาวุธหนัก

TripleLift.jpg