Lazada

รู้จัก 4 สารอันตรายใน “ครีมเร่งขาว” ภัยร้ายที่อยู่คู่ค่านิยมความขาวในสังคมไทย

รู้จัก 4 สารอันตรายใน “ครีมเร่งขาว” ภัยร้ายที่อยู่คู่ค่านิยมความขาวในสังคมไทย

ทุกวันนี้เราอาจคิดว่าหัวข้อเรื่อง ‘สีผิว’ คือทอปปิกที่เอาท์ไปแล้ว เพราะไม่ว่าสีที่ผิวหนังของใครจะเป็นสีอะไรหรือโทนไหน เขาคนนั้นก็สวย-หล่อในแบบของตัวเอง ชนิดที่คงไม่มีใครหยิบยกประเด็นนี้มานั่งเมาท์กันแล้วด้วยซ้ำ

แต่หารู้ไม่ว่าในสังคมที่แสนศิวิไลซ์นี้ ยังมีการเมาท์เรื่องสีผิวกันเป็นปกติ และแน่นอน ยังมีการบูชา ‘ความขาว’ ไว้บนหิ้ง ชนิดที่วลี ‘ยิ่ง ขาว ยิ่งสวย’ ยังคงใช้ได้ดีแม้ในปี 2021 แต่ที่แย่ไปกว่านั้น ความเชื่อนี้ ยังนำมาซึ่งอันตรายที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ครีมเร่งขาว’ หรือศูนย์รวมสารเคมีตัวร้าย ที่พร้อมทำลายผิวและร่างกายให้ตายทั้งเป็นได้ในทีเดียว

แพทย์หญิงณัฐินี จิตครองธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านตจศัลยศาสตร์ ศูนย์ผิวหนังและศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลเรื่องอันตรายจากครีมเร่งขาวไว้ว่า “ตัวครีมเร่งขาวส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารอันตรายอยู่ 4 ตัว ที่มีฤทธิ์ลอกผิว ทำให้เซลล์ผิวผลัดเร็วกว่าปกติ และทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น และหากใช้เป็นเวลานาน ร่างกายดูดซึมสารเหล่านี้เข้าไปปริมาณมาก ก็จะส่งผลเสียกับอวัยวะภายใน จนเป็นอันตรายร้ายแรง”

โดยทั่วไปแล้ว ครีมเร่งขาวจะมีสารเคมีที่ทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพเป็นส่วนผสมหลักอยู่แล้ว ซึ่งถ้าโชคดี ครีมที่ว่าก็อาจมีสารอันตรายผสมอยู่ 1-2 ชนิด แต่ถ้าบังเอิญหยิบไปเจอแจ็คพอตเมื่อไร ครีมเร่งขาวกระปุกนั้นก็อาจมี สารปรอท, ไฮโดรควิโนน, กรดวิตามินเอ และ สเตียรอยด์ กวนรวมกันอยู่ครบครันเลยก็ได้

“แล้วมันอันตรายยังไงล่ะ ก็เห็นใช้แล้วขาวขึ้นตั้งแต่เดือนแรกเลยนี่” นั่นล่ะค่ะ ถ้าบังเอิญว่าเผลอไปใช้ครีมจนคิดเองว่าได้ผล แสดงว่าสารอันตรายในนั้นเริ่มส่งผลใน ‘ระยะเฉียบพลัน’ กับผิวแล้ว เพราะในระยะแรก สารทั้ง 4 ตัว จะมีกลไกผลัดเซลล์ผิวในรูปแบบที่ต่างกันออกไป

“ปรอท” จะลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน เเละทำให้เซลล์ผิวหนังผลัดไวมากขึ้น จึงทำให้ผิวขาวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว “ไฮโดรควิโนน” จะออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสร้างเม็ดสี จึงทำให้ผิวดูขาวขึ้น “กรดวิตามินเอ” จะกระตุ้นการแบ่งเซลล์ผิว เร่งการผลัดเซลล์ของผิว รวมทั้งยับยั้งการสร้างเม็ดสี จึงทำให้รู้สึกว่าทาแล้วผิวขาว ส่วน “สเตียรอยด์” จะมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสี เช่นเดียวกันกับไฮโดรควิโนน

สรุปง่ายๆ ที่เห็นว่าสารทั้ง 4 ทำให้ผิวขาวขึ้น ล้วนแต่เกิดจากกลไกผลัดเซลล์ผิวอย่างรวดเร็วทั้งสิ้น ซึ่งผลจากการผลัดเซลล์ผิวเหล่านี้ จะส่งผลให้เกิดการระคายเคือง แสบร้อน ไวต่อแสง เกิดผื่นแดง และ อาจทำให้เกิดรอยด่างดำตามมา แต่หากคิดว่านี่น่ากลัวแล้ว เรายังอยากให้คุณได้รู้จักกับอันตรายในเฟส 2 ที่จะส่งผลเสียกับอวัยวะภายในโดยตรง ของอาการ ‘ระยะเรื้อรัง’

“การใช้ครีมเป็นเวลาติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดการดูดซึมสาร ต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย จนเกิดอันตรายกับระบบต่างๆ ภายในร่างกายอย่างเรื้อรัง” คุณหมอณัฐินี กล่าว “กรดวิตามินเอ ทำให้เกิดภาวะผิวด่างหรือ ภาวะผิวคล้ำผิดปกติ และหากใช้ขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกพิการได้ ส่วนสเตียรอยด์ จะทำให้เกิดตุ่มแดงคล้ายสิวจำนวนมาก ที่เราเรียกว่า สิวสเตียรอยด์ ต้นเหตุของรอยดำ-รอยแดง และปัญหาหลุมสิวถาวร ทั้งยังทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังหดหรือขยายตัวผิดปกติ รวมไปถึงปัญหาผิวแตกลายอย่างถาวรอีกด้วย

“แต่สำหรับไฮโดรควิโนนและปรอท จะอันตรายกว่านั้น โดยผลเสียของการใช้ไฮโดรควิโนน โดยไม่อยู่ในการดูแลของแพทย์ จะทำให้ผิวไวต่อแสงแดดได้ง่าย เกิดผิวคล้ำและฝ้าถาวร ส่วนกรณีร้ายแรงยัง อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังในอนาคต

“ด้าน ปรอท ถือเป็นสารที่สะสมในร่างกายได้เร็วที่สุด และส่งผลร้ายแรงที่สุดเช่นเดียวกัน เริ่มจากมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปลายประสาทอักเสบ ทำให้มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ทรงตัวผิดปกติ ชัก หรือเกิดอาการประสาทหลอน และยังทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง รวมถึงผลเสียต่อระบบหัวใจ ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงอันตรายต่อชีวิต”

ทีนี้เราคงจะได้รับรู้อันตรายของครีมเร่งขาวทั้ง 2 ระยะกันไปแล้ว ซึ่งวิธีการป้องกันอันตรายจากสิ่งเหล่านี้ที่ดีที่สุด ก็คงจะเป็นการไม่หยิบมาใช้ตั้งแต่แรก แต่หากใครเผลอใช้ครีมเหล่านี้แบบไม่ตั้งใจ จนเกิดผลข้างเคียงกับผิว คำแนะนำเดียวคือให้หยุดใช้ แล้วรีบไปพบแพทย์ เพื่อประเมินสภาพผิว ความรุนแรงของผลข้างเคียง แล้วค่อยทำการรักษาในลำดับถัดไป

ส่วนอีกคำแนะนำหนึ่งจาก คุณหมอณัฐินี ก็คือให้ลองวางค่านิยมของการมีผิวขาวลงก่อน แล้วตัดครีมเร่งขาวออกจากตัวเลือกในใจ เปลี่ยนเป็นครีมชุ่มชื้นที่เหมาะกับสภาพผิวของเราเอง จะทำให้เซลล์ผิวดู อิ่มน้ำ ไม่แห้งกร้าน ดูเนียน ดูกระจ่างใส ที่สำคัญคือใส่ความมั่นใจลงไปอีกนิดว่า “ผิวของเรานั้นดูดี ในแบบที่เป็นตัวของตัวเองที่สุดแล้ว”

ติดตามเกร็ดความรู้และข้อมูลสุขภาพที่น่าสนใจเพิ่มเติม กับโรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ที่ Website: www.praram9.com / Line: https://lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital

pr9cream03.jpg