Lazada

มรภ.พระนคร จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาและดนตรีไทย

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จัดพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาและดนตรีไทย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอัตลักษณ์ทางด้านศิลปะวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ตามพันธกิจการบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ เพื่อสร้างและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ การให้บริการวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ชุมชนและสังคมอย่างมีคุณภาพ เป็นศูนย์กลางบริการข้อมูลและสารสนเทศทางด้านการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นประธานเปิดศูนย์ฯ ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน ดร.ถนอม อินทรกำเนิด นายกสภามหาวิทยาลัยสวนดุสิต เข้าร่วมในพิธี ณ อาคารบ่มเพาะวิสาหกิจและศูนย์รายได้ชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
กิจกรรมประกอบด้วย พิธีเจริญพระพุทธมนต์ 9 รูป ถวายภัตตาหาร พิธีเจิมป้าย “ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาและดนตรีไทย” การแสดงเดี่ยวระนาดเอก พิธีคำนับครูช่าง โดย ครูวรวินัย หิรัญมาศ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 การบรรยายพิเศษ เรื่อง ธัชชา : การขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาในอุดมศึกษาไทย โดย ดร.สิริกร มณีรินทร์ การแสดงปี่ใน (หมู่) โดยศูนย์การเรียนรู้บ้านพญาปี่ และการแสดงโนราห์ใต้ โดย กระทรวงวัฒนธรรม
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาและดนตรีไทย ได้ดำเนินการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการภูมิปัญญาและการผลิตเครื่องดนตรีไทย “ระนาดเอก” ดังนี้ การเสวนาภูมิปัญญาการผลิตเครื่องดนตรีไทย “ระนาดเอก”โดยครูภูมิปัญญา นายวสันชัย วัดเสนาะ นายเกรียงศักดิ์ เริงสิริ และนายละมัย อาจมังกร และการอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตเครื่องดนตรีไทย “ระนาดเอก” การผลิตผืนระนาดเอก การผลิตรางระนาดเอก และการผลิตไม้ระนาดเอก
รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง เปิดเผยว่าศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาและดนตรีไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ดำเนินการจัดตั้งโดยสาขาวิชาดนตรีศึกษา วิทยาลัยการฝึกหัดครู และสาขาวิชาดนตรีไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้ด้านภูมิปัญญาไทยแขนงต่างๆ โดยการสร้างเครือข่ายภูมิปัญญาไทยกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการประสานความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ ปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญา อาทิ ภูมิปัญญาการประดิษฐ์หัวโขน ภูมิปัญญาการเขียนลายรดน้ำ ภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงของไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิปัญญาดนตรีไทย ทั้งทางด้านศิลปะการบรรเลงดนตรีไทย และการผลิตเครื่องดนตรีไทยที่ได้มาตรฐาน สนับสนุนการเรียนการสอน รายวิชาการซ่อมและสร้างเครื่องดนตรีไทย เพื่อให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่อย่างภาคภูมิ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ให้แก่นักศึกษา ชุมชน และสังคมให้มั่นคงยั่งยืนต่อไป