Lazada

ประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อม

การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองและการเสื่อมถอยของสมองเร็วกว่าที่ควร จากงานศึกษาวิจัยที่นำเสนอวันนี้ภายในงานประชุมนานาชาติของสมาคมอัลไซเมอร์ ประจำปี 2565 (Alzheimer’s Association International Conference(R) (AAIC(R)) 2022) ซึ่งจัดขึ้นในเมืองซานดิเอโกและทางออนไลน์

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ( HDP) ประกอบด้วย ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง หรือภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราว และภาวะครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) ได้รับการเชื่อมโยงอย่างมากเข้ากับการเกิดโรคหัวใจในช่วงอายุที่มากขึ้น แต่ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยน้อยมากที่เชื่อมโยงภาวะเหล่านี้เข้ากับการทำงานรู้คิดของสมอง ในแง่นี้ ข้อค้นพบสำคัญที่นำเสนอภายในงานประชุม AAIC ประจำปี 2565 มีดังนี้

สตรีที่เคยมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีแนวโน้มสูงกว่าที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งหมายถึงการเสื่อมถอยในทักษะการคิดที่เกิดจากภาวะที่ไปอุดตันหรือลดการไหลเวียนของเลือดเข้าสู่สมอง เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น โดยเปรียบเทียบกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง
การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีความเชื่อมโยงกับพยาธิสภาพของสสารสีขาวในสมอง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเสื่อมถอยของการทำงานรู้คิดของสมองเร็วกว่าที่ควร เมื่อเวลาผ่านไป 15 ปีหลังจากการตั้งครรภ์
สตรีที่เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษขั้นรุนแรงมีระดับของเบตาแอมีลอยด์ ( beta amyloid) สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์ซึ่งวัดในโลหิต เมื่อเทียบกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้น 1 ใน 7 ของการคลอดบุตรในโรงพยาบาล โดยเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตในบุคคลผู้ตั้งครรภ์ให้กำเนิดและตัวอ่อนในครรภ์ในทั่วโลก ภาวะดังกล่าวเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อประชากรชาวผิวดำ ชาวลาติน ชาวเอเชีย/ชาวเกาะในแปซิฟิก และชาวอเมริกันพื้นเมืองในอัตราที่สูงอย่างไม่สมส่วน

“นี่เป็นข้อมูลจากการศึกษาระยะยาวชุดแรก ๆ ที่เชื่อมโยงภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เข้ากับภาวะสมองเสื่อมในการศึกษาตามรุ่นในกลุ่มคนที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค (cohort study) ขนาดใหญ่” แคลร์ เซ็กซ์ตัน (Claire Sexton) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายโครงการและบริการสู่ภายนอกเชิงวิทยาศาสตร์ สมาคมอัลไซเมอร์ กล่าว “เมื่อคำนึงถึงนัยที่รุนแรงทั้งระยะสั้นและระยะยาวของภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ การตรวจพบและการรักษาแต่เนิ่น ๆ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปกป้องทั้งบุคคลผู้ตั้งครรภ์และเด็กที่จะเกิดมา”

“ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลสตรีตั้งครรภ์และการเฝ้าระวังสุขภาพระยะยาวของบุคคลผู้ตั้งครรภ์” เซ็กส์ตันกล่าว “ผู้ที่ประสบกับความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความจำและการทำงานรู้คิดของสมองควรปรึกษาผู้ให้การดูแลรักษาสุขภาพ”

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

เพื่อสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับภาวะสมองเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น ดร.แคเรน ชลีป ( Karen Schliep) วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ป้องกัน มหาวิทยาลัยสุขภาพแห่งยูทาห์ (University of Utah Health) และเพื่อนร่วมงาน ได้ดำเนินการศึกษาตามรุ่นย้อนหลังกับสตรี 59,668 คนที่เคยตั้งครรภ์

สตรีที่มีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุสูงกว่า 1.37 เท่า เมื่อคำนวณโดยคำนึงถึงวัยขณะให้กำเนิด ปีที่ให้กำเนิด และความเหมือนกัน เมื่อเทียบกับสตรีที่ตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับความเสี่ยงสูงกว่า 1.64 เท่าที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง และความเสี่ยงสูงกว่า 1.49 เท่าที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ ภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์และภาวะครรภ์เป็นพิษและครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชักร่วม ( eclampsia) แสดงระดับของความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกันสำหรับภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือด

“ผลจากการศึกษาของเรายืนยันข้อค้นพบก่อนหน้านี้ว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองเมื่อเทียบกับอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ” ชลีปกล่าว “ผลดังกล่าวนี้ชี้ว่าความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองอาจสูงพอกันระหว่างสตรีที่เคยมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์กับสตรีที่เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ”

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับพยาธิสภาพของสสารสีขาวในสมอง 15 ปีหลังการตั้งครรภ์

เมื่อคำนึงถึงความเชื่อมโยงที่พิสูจน์ชัดเจนระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับสุขภาพหลอดเลือดสมองในระยะยาว โรวินา ฮุสไซนาลี ( Rowina Hussainali) วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต นักศึกษาปริญญาเอกด้านระบาดวิทยาและสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ศูนย์การแพทย์อีราสมุส เอ็มซี (Erasmus MC Medical Center) เนเธอร์แลนด์ และเพื่อนร่วมงาน ได้มุ่งศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับตัวบ่งชี้พยาธิสภาพของหลอดเลือดสมอง 15 ปีหลังจากการตั้งครรภ์

คณะผู้วิจัยได้สำรวจสตรี 538 ราย โดย 445 รายเคยตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง และ 93 รายเคยมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ จากการศึกษาเจเนอเรชัน อาร์ ( Generation R) โดยได้ศึกษาสตรีตั้งครรภ์ที่มีวันกำหนดคลอดระหว่างเดือนเมษายน 2545 ถึงเดือนมกราคม 2549 เมื่อผ่านไป 15 ปีหลังจากนั้น สตรีกลุ่มนี้บางส่วนได้เข้ารับการตรวจแสดงภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อประเมินปริมาตรเนื้อเยื่อสมองและตัวบ่งชี้อื่น ๆ ที่สามารถบ่งชี้พยาธิสภาพ

ฮุสไซนาลีและทีมงานพบว่า สตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีพยาธิสภาพของสสารสีขาวในสมอง (ตัวบ่งชี้ของเนื้อเยื่อสมองเสื่อมสภาพ) สูงกว่าสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ 38% ความเชื่อมโยงนี้พบในสตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์เป็นหลัก ซึ่งมีพยาธิสภาพในสสารสีขาวในสมองสูงกว่า 48% เมื่อเทียบกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ไม่พบความแตกต่างในแง่ของตัวบ่งชี้อื่น ๆ ของพยาธิสภาพในสมอง อย่างเช่น เนื้อสมองตายจากขาดการไหลเวียนโลหิต (infarct) หรือจุดเลือดออกขนาดเล็กที่บริเวณเนื้อสมอง (cerebral microbleed) การเกิดภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังหลังจากการตั้งครรภ์ยิ่งตอกย้ำผลการศึกษาดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์

“ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมอง 15 ปีหลังจากการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นความเสียหายที่สามารถมีผลกระทบถาวรต่อการทำงานรู้คิดของสมอง” ฮุสไซนาลี กล่าว “สตรีที่มีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการประเมินและรักษาแต่เนิ่น ๆ สำหรับปัจจัยเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงตลอดจนโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ”

ภาวะครรภ์เป็นพิษเชื่อมโยงกับตัวบ่งชี้การอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้น

ภาวะครรภ์เป็นพิษคือภาวะความดันโลหิตสูงรุนแรงขณะตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลกับการตั้งครรภ์ 5-8% ชุดข้อมูลขนาดใหญ่บ่งชี้ว่าสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษมีการสะสมของปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้น รวมถึงโรคหัวใจ ขณะที่ภาวะครรภ์เป็นพิษได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ในการนี้ ดร.พญ.ซอนญา ซูวาคอฟ ( Sonja Suvakov) นักวิจัยหลังปริญญาเอกและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ที่มาโยคลินิก (Mayo Clinic) และทีม ได้สำรวจว่าถุงน้ำ (vesicle) ซึ่งเป็นถุงของเหลวขนาดเล็ก ที่ปล่อยออกมาจากเซลล์สมอง จะตรวจพบหรือไม่ในสตรีเมื่อผ่านไปหลายปีหลังจากการตั้งครรภ์ที่มีภาวะดังกล่าว

นักวิจัยพบว่าสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงมีความหนาแน่นสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญของถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีแอมีลอยด์เบตาเป็นบวก ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของหนึ่งในรอยโรคสำคัญของอัลไซเมอร์ พวกเขายังพบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีตัวบ่งชี้ความเสียหายของเยื่อบุหลอดเลือดภายในสมอง ( endothelium) และการอักเสบของสมอง ในทำนองเดียวกัน ระดับเบตาแอมีลอยด์ที่มีการไหลเวียนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

“ข้อค้นพบเหล่านี้บ่งชี้ว่าสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษมีการเพิ่มขึ้นของระดับตัวบ่งชี้ความเสียหายของระบบประสาทและหลอดเลือด ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อทักษะการรู้คิด” ซูวาคอฟ กล่าว “จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงด้านการเสื่อมของระบบประสาทและการทำงานรู้คิดของสมอง ที่การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ก่อให้เกิดขึ้นกับสตรีไปตลอดชีวิต”

เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC(R))
การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ ( AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

โฮมเพจของ AAIC 2022: www.alz.org/aaic/
ห้องข่าวของ AAIC 2022: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
แฮชแท็ก AAIC 2022: #AAIC22

เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์ สมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association) เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลก ซึ่งอุทิศตนให้กับการดูแลรักษา การสนับสนุน และการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อทำให้โลกของเราปราศจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทั้งหมด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทรสายด่วน 800.272.3900

ดร.แคเรน ชลีป วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์ และคณะ โครงการ “What subtypes are driving the association between hypertensive disorders of pregnancy and dementia? Findings from an 80-year retrospective cohort study” (ชนิดย่อยใดที่มีผลต่อความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับภาวะสมองเสื่อม ข้อค้นพบจากการศึกษาตามรุ่นในกลุ่มคนที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคระยะเวลา 80 ปี) (ผู้ให้ทุน: สถาบันการชราวัยแห่งชาติ, ศูนย์ทรัพยากรวิจัยแห่งชาติ, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ)
โรวินา ฮุสไซนาลี วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และคณะ โครงการ “Hypertensive disorders of pregnancy and markers of vascular brain pathology after 15 years: a prospective cohort study” (ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และตัวบ่งชี้พยาธิสภาพโรคหลอดเลือดในสมองหลังผ่านไป 15 ปี: การศึกษาตามรุ่นแบบไปข้างหน้า) (ผู้ให้ทุน: มูลนิธิภาวะครรภ์เป็นพิษ, มูลนิธิคูลซิงเกิล (Coolsingel Foundation), ศูนย์การแพทย์อีราสมุส, มหาวิทยาลัยอีราสมุสรอตเทอร์ดาม, องค์กรวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพแห่งเนเธอร์แลนด์, องค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งเนเธอร์แลนด์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการ และกีฬา, กระทรวงเยาวชนและครอบครัว, สภาวิจัยแห่งยุโรป)
ดร.พญ.ซอนญา ซูวาคอฟ และคณะ โครงการ “Circulating extracellular vesicles of neurovascular origin are elevated in women with severe preeclampsia years after their affected pregnancies” (ต้นกำเนิดของถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีการไหลเวียนเพิ่มสูงขึ้นในสตรีที่เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงหลายปีหลังจากการตั้งครรภ์ที่มีภาวะดังกล่าว)
*** ข่าวประชาสัมพันธ์ของการประชุม AAIC 2022 อาจมีข้อมูลอัปเดตที่ไม่ตรงกับบทคัดย่อด้านล่าง

หมายเลขข้อเสนอโครงร่างวิจัย : 62343
ชื่อเรื่อง: ชนิดย่อยใดที่มีผลต่อความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับภาวะสมองเสื่อม ข้อค้นพบจากการศึกษาตามรุ่นย้อนหลังในกลุ่มคนที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคระยะเวลา 80 ปี
ความเป็นมาของการวิจัย: เราเพิ่งพบว่าสตรีที่มี เมื่อเทียบกับไม่มี ประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีความอันตรายสูงกว่าสำหรับภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุ ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (VaD) และภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ/ไม่ทราบชนิด แต่ไม่รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ (AD) ในการศึกษานี้ เราประเมินความเชื่อมโยงระหว่างชนิดย่อยของภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับภาวะสมองเสื่อมเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
วิธีการศึกษา: เราได้ดำเนินการศึกษาตามรุ่นย้อนหลังกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์เดี่ยวอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (ปี 2482-2562) ในยูทาห์ การจัดประเภทภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ทำโดยใช้สูติบัตร (ข้อมูลชนิดข้อความ ปี 2482-2520 และข้อมูลรหัส ICD9 ปี 2521-2531 และช่องกาเครื่องหมายที่มีข้อความเพิ่มเติม ปี 2532-2556) โดยใช้มรณบัตรและระเบียนผู้ป่วยในในการตรวจสอบ การจัดประเภทภาวะสมองเสื่อมประเมินโดยใช้รหัส ICD 9/10 สำหรับบันทึกการเสียชีวิต ระเบียนผู้ป่วยใน และประวัติประกันเมดิแคร์ (Medicare) สตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (n=19,989) ได้รับการจับคู่หนึ่งต่อสองกับสตรีที่ไม่เคยมีประวัติ (n=39,679) โดยแบ่งเป็นกลุ่มช่วงอายุ 5 ปี ปีที่คลอดบุตร และความเหมือนกันขณะตั้งครรภ์ (ภาพ 1) มีการใช้แบบจำลองการถดถอยค็อกซ์ (Cox regression model) ในการประมาณค่าอัตราส่วนอันตรายปรับผลกระทบแล้ว (Adjusted hazard ratio หรือ aHR) และมีช่วงความเชื่อมั่น (CI) 95% สำหรับภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ชนิดย่อยกับภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุและชนิดจำเพาะ
ผลการศึกษา: การตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงประกอบด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษและภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชักร่วมด้วย (65.9%) และภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์ (33.5%) กรณีอื่น ๆ ของภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เกิดจากกลุ่มอาการ HELLP (0.6%) ซึ่งเราไม่ได้ประเมินในที่นี้เนื่องจากมีจำนวนกรณีน้อย การเกิดภาวะสมองเสื่อมระหว่างการติดตามอาการ (ปี 2522-2562) อยู่ที่ 4.1% โดยในจำนวนดังกล่าว 70% คืออื่น ๆ/ไม่ทราบชนิด 24% คืออัลไซเมอร์ และ 6% คือสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง สตรีที่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษ/ครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชัก เมื่อเทียบกับที่ไม่เคยเป็น มีความอันตรายของภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุสูงกว่า 1.38 ขณะที่สตรีที่เคยเป็นภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์มีความอันตรายสูงกว่า 1.36 (ตาราง 1) เมื่อแบ่งภาวะสมองเสื่อมออกเป็นชนิดย่อย สตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษ/ครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชักมีความอันตรายสูงกว่า 1.51 ที่จะมีภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น/ไม่ทราบชนิด ขณะที่สตรีที่มีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์มีความอันตรายสูงกว่า 1.31 ระดับความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์กับภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองอยู่ที่ 2.75 ซึ่งเกือบสูงเป็นสองเท่าของภาวะครรภ์เป็นพิษ/ครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชัก ซึ่งอยู่ที่ 1.58 ทั้งนี้ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ชนิดย่อยต่าง ๆ ไม่เชื่อมโยงกับอัลไซเมอร์
สรุป: ผลการศึกษาของเราสอดคล้องกับการศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาจนถึงปัจจุบันในเดนมาร์ก ซึ่งพบว่าภาวะครรภ์เป็นพิษมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเทียบกับภาวะสมองเสื่อมชนิดย่อยอื่น ๆ ทั้งนี้ผลการศึกษาของเราบ่งชี้ว่าความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองอาจสูงพอกันระหว่างสตรีที่เคยมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์กับภาวะครรภ์เป็นพิษ

ผู้วิจัยผู้ทำหน้าที่นำเสนอ
ดร.แคเรน ชลีป วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์
มหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

หมายเลขข้อเสนอโครงร่างวิจัย : 62354
ชื่อเรื่อง: ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และตัวบ่งชี้พยาธิสภาพโรคหลอดเลือดในสมองหลังผ่านไป 15 ปี: การศึกษาตามรุ่นแบบไปข้างหน้า
ความเป็นมาของการวิจัย: หลักฐานจำนวนมากบ่งชี้ความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และสุขภาพหลอดเลือดสมอง เรามุ่งระบุความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับตัวบ่งชี้พยาธิสภาพโรคหลอดเลือดในสมอง 15 ปีหลังการตั้งครรภ์
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการศึกษาตามรุ่นที่ผนวกรวมอยู่ในการศึกษาตามรุ่นแบบไปข้างหน้าแบบอิงประชากร ซึ่งติดตามตั้งแต่การตั้งครรภ์ระยะแรกเริ่ม เราศึกษากับสตรี 538 ราย โดย 445 ราย (82.7%) มีความดันโลหิตปกติระหว่างการตั้งครรภ์ที่มุ่งศึกษา (normotensive index pregnancy) และ 93 ราย (17.2%) มีภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ที่มุ่งศึกษา เมื่อผ่านไป 15 ปีหลังจากการตั้งครรภ์ (ค่ามัธยฐานอยู่ที่ 14.6 ปี 90% ช่วง 14.0; 15.7) สตรีมีอายุเฉลี่ย 46.5 ปี (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ SD = 4.2) สตรีเหล่านี้ได้รับการตรวจแสดงภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอเพื่อประเมินปริมาตรเนื้อเยื่อสมอง รวมถึงสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาวในสมอง (white matter hyperintensities หรือ WMH) เนื้อสมองตายจากขาดการไหลเวียนโลหิตเนื่องจากการอุดตันของหลอดเลือดเล็ก (lacunar infarct) และจุดเลือดออกขนาดเล็กที่บริเวณเนื้อสมอง (cerebral microbleed) เป็นตัวบ่งชี้พยาธิสภาพของโรคหลอดเลือดสมองผลการศึกษา: สตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาวในสมองสูงกว่า 38% (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI): [8% ; 75%]) เมื่อเทียบกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยมีความดันโลหิตปกติ ความเชื่อมโยงนี้พบในสตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์เป็นหลัก ซึ่งมีสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาวในสมองสูงกว่า 48% (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI): [11% ; 95%]) เมื่อเทียบกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยมีความดันโลหิตปกติ ทั้งนี้ไม่พบความแตกต่างระหว่างเนื้อสมองตายจากขาดการไหลเวียนโลหิตหรือจุดเลือดออกขนาดเล็กที่บริเวณเนื้อสมอง การเกิดภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังหลังการตั้งครรภ์ตอกย้ำผลการศึกษาดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะในสตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์
สรุป: การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับปัญหาสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาวในสมองที่มากกว่าเมื่อผ่านไป 15 ปีหลังการตั้งครรภ์ ผลดังกล่าวนี้พบในสตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์ การเกิดภาวะโลหิตสูงเรื้อรังหลังการตั้งครรภ์มีส่วนส่งผลต่อผลดังกล่าวนี้ สตรีที่มีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการประเมินและรักษาสำหรับปัจจัยเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงตลอดจนโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ

ผู้วิจัยผู้ทำหน้าที่นำเสนอ:
โรวินา ฮุสไซนาลี วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
ศูนย์การแพทย์อีราสมุส เอ็มซี เนเธอร์แลนด์

หมายเลขข้อเสนอโครงร่างวิจัย : 62360
ชื่อเรื่อง: ถุงน้ำภายนอกเซลล์ไหลเวียนที่มีต้นกำเนิดในระบบประสาทและหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้นในสตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงหลายปีหลังจากการตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
ความเป็นมาของการวิจัย: ภาวะครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia หรือ PE) ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ชนิดหนึ่ง ได้รับการเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) การเสื่อมถอยของการทำงานรู้คิดของสมอง และปริมาตรเนื้อสมองที่ลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาวะครรภ์เป็นพิษได้รับการเชื่อมโยงกับความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เราตั้งสมมติฐานว่าถุงน้ำภายนอกเซลล์ (extracellular vesicles หรือ EVs) ที่มีการไหลเวียนซึ่งมีต้นกำเนิดในระบบประสาทและหลอดเลือดจะตรวจพบในสตรีหลายปีหลังจากมีภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยเป็นตัวบ่งชี้ความเสียหายเรื้อรังของระบบประสาทและหลอดเลือดและแอมีลอยด์เบตา (amyloid-?)
วิธีการศึกษา: กลุ่มสตรี 40 รายที่มีประวัติความดันโลหิตปกติระหว่างตั้งครรภ์ (กลุ่มควบคุม) และมีการจับคู่ด้วยอายุและความเหมือนกับสตรี 40 รายที่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษระดับอ่อน (n=33) และระดับรุนแรง (n=7) ได้รับการระบุตัวโดยใช้โครงการระบาดวิทยาโรเชสเตอร์ (Rochester Epidemiology Project) การวินิจฉัยพบภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงได้รับการยืนยันโดยใช้เกณฑ์เชิงคลินิก (ตาราง) ขณะที่ไม่มีสตรีรายใดมีอาการผิดปกติรุนแรงของระบบหลอดเลือดและหัวใจ การศึกษาก่อนหน้านี้ของเรากับผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้ชี้ว่าปริมาตรสสารสีเทาของสมองมีน้อยกว่าในสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษและภาวะความดันโลหิตสูงในตอนปลายของชีวิต เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่เกิดจากโลหิตที่มาจากกลไกของเซลล์ระบบประสาทและหลอดเลือดได้รับการระบุโดยวิธีตรวจวัดเซลล์ชนิดโฟลว์ไซโตเมทรี (flow cytometry) แบบดิจิทัลมาตรฐาน ความเข้มข้นของแอมีลอยด์เบตาในพลาสมาวัดโดยใช้วิธีเอลิซา (ELISA) ความแตกต่างระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทดสอบโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) โดยมีการทดสอบผลต่างที่มีนัยสำคัญน้อยที่สุด (least difference test) สำหรับการวิเคราะห์หลังการทดสอบ ความเชื่อมโยงระหว่างถุงน้ำภายนอกเซลล์และการสร้างภาพสมองด้วยเอ็มอาร์ไอได้รับการประเมินโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson correlation coefficient)
ผลการศึกษา: สตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชักมีความหนาแน่นของถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีแอมีลอยด์เบตาสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p=0.003) ถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีการพบตัวบ่งชี้ความเสียหายของเยื่อบุหลอดเลือดภายในสมองซึ่งเป็นตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (blood-brain barrier- endothelial damage หรือ LDL-R) และการอักเสบของกลไกการแข็งตัวของเลือด (ที่ปัจจัยจากเนื้อเยื่อ หรือ tissue factor) มีสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญในสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชักเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p=0.008 และ p=0.002 ตามลำดับ) เช่นเดียวกับในสตรีที่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษระดับอ่อน ความเข้มข้นของแอมีลอยด์เบตาในพลาสมายังสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญในสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงเมื่อเทียบกับระดับอ่อน (p=0.037) (ตาราง) จำนวนถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีปัจจัยจากเนื้อเยื่อเป็นบวกมีความสัมพันธ์เชิงลบกับปริมาตรสสารสีเทาโดยรวมของสมอง (หน่วยลูกบาศก์เซนติเมตร) (p<0.05)
สรุป: สตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษรุนแรงแสดงระดับที่เพิ่มสูงขึ้นของตัวบ่งชี้การอักเสบของระบบประสาทและความเสียหายของระบบประสาทและหลอดเลือด ตลอดจนมีการหลั่งแอมีลอยด์เบตามากกว่า การอักเสบเกินขีดอาจมีส่วนก่อให้เกิดโรคสมองฝ่อ (brain atrophy) ที่กล่าวถึงข้างต้นในสตรีกลุ่มนี้

ผู้วิจัยผู้ทำหน้าที่นำเสนอ:
ดร.พญ.ซอนญา ซูวาคอฟ
มาโยคลินิก มินนิโซตา สหรัฐอเมริกา

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1871394/AAIC_Vascular_Dementia.jpg
โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/1869584/AAIC22_purple_font_rgb_Logo.jpg

PR-News_TH.jpg